เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) จะเข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโต อย่างที่แคนาดาซึ่งมีแนวชายฝั่งยาวที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของท้องทะเลถึงสามแห่ง รวมถึงมีบริเวณติดกับสหรัฐฯ ที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยิ่งเป็นโอกาสการผนึกกำลังให้ท้องทะเลในอเมริกาเหนือเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินสำหรับอนาคต
บวกกับความเข้าใจเรื่องท้องทะเลของตนเองเป็นอย่างดี ทำให้แคนาดามีองค์ความรู้ชุดที่พร้อมสำหรับทำงานด้านทะเลที่เป็นการลงมือทำต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกันด้วย ตั้งแต่ทุ่งกังหันลมบริเวณชายฝั่ง การเพาะพันธุ์สัตว์และพืชน้ำ (aquaculture) ไปจนถึงการขจัดคาร์บอนใต้ท้องทะเล ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาทักษะระดับสูงและสร้างโอกาสงานเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากแคนาดาจะมีบทบาทในทศวรรษแห่งการลงมือทำด้านสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Decade of Ocean Science for Sustainable Development) แล้ว กระทรวงการประมง มหาสมุทร และหน่วยยามฝั่งของแคนาดา (Fisheries, Oceans and the Canadian Coast Guard) ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อออกแบบให้ ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ เป็นไปอย่างยั่งยืน รวมทั้งมี Ocean Networks Canada ที่ทำงานตรวจตราเก็บข้อมูลชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกและตะวันออก โดยการใช้เทคโนโลยีแบบเรียลไทม์นั้น ก็เป็นหมุดหมายของการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตองค์ความรู้ทางทะเล ที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม กล่าวคือ ต่อชุมชน รัฐบาล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับท้องทะเลของแคนาดา
และถึงแม้ว่าแคนาดาจะมีครัสเตอร์ที่ทำงานเกี่ยวกับท้องทะเลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นไบโอเทคทางทะเล บริษัทหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร (bioprospecting) รวมถึงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (desalination) ทว่าการลงมือทำของแคนาดาจะสำเร็จได้ ก็ด้วยการมีนโยบายสาธารณะที่ฉลาด มีการสนับสนุนงานวิจัย และการลงทุนในภาคมหาสมุทร
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การลงมือต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
#SDG14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
แหล่งอ้างอิง:
https://www.oceannetworks.ca/
https://www.nationalobserver.com/2021/03/15/opinion/north-american-blue-economy-powerhouse