ความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำยังคงอยู่ทุกสมัย ให้มีเพียงพอหล่อเลี้ยงชีวิตและเศรษฐกิจ ทว่าปัจจุบันด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความท้าทายดังกล่าวยิ่งทวีคูณ อาทิ การมีน้ำมากไป (ท่วม) หรือน้ำน้อยไป (แล้ง) กระแสน้ำในแม่น้ำต่ำลง อุณภูมิน้ำสูงขึ้น หรือการเกิดมลพิษในแหล่งน้ำ ไปจนถึงการกระทบกับเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนชุมชน เมือง และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและการมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
คณะกรรมาธิการยุโรปตระหนักดีถึงประเด็นดังกล่าว ดังที่สหภาพยุโรปได้ออกยุทธศาสตร์ใหม่ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (EU Strategy on Adaptation to Climate Change) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก (transformational changes) ในทุกภาคส่วน
โดยการบริหารจัดการน้ำต้องเป็นการคิดหาทางออกที่คำนึงถึงหลากประเด็นที่เกี่ยวโยงกันอย่างเป็นองค์รวมและเป็นระบบ รวมถึงต้องให้ชุมชนในท้องถิ่นเข้ามาร่วมออกแบบและดำเนินการ เพราะประเด็นด้านน้ำไม่สามารถที่จะแยกกันคิดแยกกันทำได้ รวมทั้งไม่สามารถแก้ไขได้หากไม่เข้าใจบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่
ซึ่งวิธีการก็สามารถทำได้หลากหลาย อาทิ การฟื้นฟูแม่น้ำไปพร้อมกับการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) การผนวกการพยากรณ์น้ำท่วมเข้ากับระบบการเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า การปรับเปลี่ยนตึกอาคารให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็นเมือง ‘ฟองน้ำ’ ที่ซึมซับมลพิษและเป็นแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำในเมืองแบบ ‘Nature-based solution’ เช่น การกักเก็บน้ำฝนเพื่อหมุนเวียนน้ำในระบบให้มีเพียงพอกับความต้องการ (stored and reused) ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีน้ำในท่อระบายน้ำมากเกินหรือเกิดน้ำท่วม เป็นต้น หรือการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำในเมืองอย่างระบบระบายน้ำทิ้งและน้ำประปา
นอกจากนั้น ที่สำคัญคือการสนับสนุนให้นักคิดและนวัตกรคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 หลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน และมีการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน
#SDG11 เมืองที่มีความปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ ลดความสูญเสียและผลกระทบจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติจากน้ำที่มีต่อเมือง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
● สหภาพยุโรปออกยุทธศาสตร์ใหม่ ‘หาทางออกและลงมือทำ’ ปรับตัวต่อ Climate Change
● ใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ low ถึง high tech ด้วย ‘Nature-Based Solutions’ สร้างเมืองอัจฉริยะจัดการน้ำรับมือ Climate change
แหล่งอ้างอิง:
https://www.climate-kic.org/news/water-management-adaptation-innovation-climate-change/
Last Updated on มีนาคม 21, 2021