Site icon SDG Move

วัยรุ่นโปแลนด์เปิดร้านเครื่องสำอางออนไลน์ เป็นช่องทางขอความช่วยเหลือให้เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว

Krystyna Paszko วัยรุ่นอายุ 16 ในโปแลนด์ เธอเปิดเฟซบุ๊กเพจ ชื่อ Rumianki i Bratki” (Chamomiles and Pansies) เพื่อขายเครื่องสำอางที่ผลิตจากธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วเป็นช่องทางเพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวที่ไม่สามารถออกจากบ้านขอความช่วยเหลือโดยไม่ให้ผู้ที่ทำร้ายรู้ตัว โดยทำทีว่ากำลังช้อปปิ้งออนไลน์

Facebook Page: Chamomiles and Pansies

Paszko อธิบายว่าเธอรับรู้ว่าอัตราการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้ไอเดียจากร้านขายยาในฝรั่งเศส ที่เมื่อมีลูกค้าไปหาซื้อ ‘หน้ากากอนามัยแบบพิเศษ’ นั่นแปลว่า เขา/เธอกำลังได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว และเภสัชกรจะประสานงานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป สิ่งนี้จุดประกายให้เธอเปิดร้านขายเครื่องสำอางปลอมขึ้นมา

แต่นอกเหนือจากรูปภาพสวยๆ ของผลิตภัณฑ์ คำบรรยายใต้ที่คล้ายจะบรรยายคุณสมบัติของเครื่องสำอางประเภทต่างๆ แล้ว แต่ยังเป็นการอธิบายอย่างแนบเนียนว่า Chamomiles and Pansies จะสามารถช่วยคุณได้อย่างไร เมื่อผู้ถูกทำร้ายส่งคำขอซื้อ ‘ครีมทาผิว’ มาทางเฟซบุ๊กแชต เขา/เธอจะได้คุยกับนักจิตวิทยาที่โต้ตอบกลับมาเหมือนพนักงานเพื่อความแนบเนียน เจ้าหน้าที่จะถามกลับว่า “ปัญหาผิว” เกิดขึ้นมานานเท่าไร หรือมีปฏิกิริยาอย่างไรกับการใช้แอลกอฮอล์ เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด และหากมีคนสั่งซื้อสินค้าและทิ้งที่อยู่ไว้ นั่นเป็นรหัสแสดงความต้องการให้เจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน

เมื่อ Paszko เปิดตัวเพจ เธอคิดว่าคงจะมีเพียงเพื่อนๆ และครอบครัวของเธอเท่านั้นที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือ แต่กลับเป็นที่ต้องการมากกว่านั้น เธอให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่ามีคนกว่า 350 คนติดต่อเข้ามา ผู้ได้รับความรุนแรงในครอบครัวส่วนมากอายุน้อยกว่า 40 ปี และมีถึง 10% ที่เป็นเพศชาย

ปัจจุบัน Chamomiles and Pansies มีคนกดไลก์มากกว่าสองหมื่นคน โดย Paszko ติดต่อ Centre for Women’s Rights องค์กรไม่แสวงหากำไรของประเทศโปแลนด์ เพื่อขอความสนับสนุนนักจิตวิทยาและนักกฎหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ร้องขอเข้ามาอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีตั้งแต่เปิดเพจ

ไอเดียนี้ของ Paszko เป็นหนึ่งใน 23 โครงการที่ได้รับรางวัล Civil Solidarity Prize จากสหภาพยุโรปซึ่งยกย่องความพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตามมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเป็นเงินรางวัลถึง 10,000 ปอนด์ (ประมาณ 400,000 บาท)

ความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิง เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน ในเป้าประสงค์ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทั้งทางเพศ และในรูปแบบอื่น

ที่มา BBC

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version