รายงาน Are We Building Back Better? Evidence from 2020 and Pathways for Inclusive Green Recovery Spending เสนอผลการวิเคราะห์นโยบายการคลังกว่า 3,500 รายการที่ประเทศรายได้สูงทั่วโลกได้ประกาศในปี 2020 และเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้นเพื่อจัดการกับความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่ดำเนินการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์แนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูทางการคลังจาก 50 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างครอบคลุมที่สุด พบว่าในปี 2020 จากการใช้จ่าย 14.6 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อจัดการผลกระทบจากโควิด-19 (เยียวยาและฟื้นฟู) มีการใช้จ่ายในวงเงินเพียง 368 พันล้านดอลลาร์เท่านั้นที่ถือว่าเป็น ‘การใช้จ่ายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘Green Spending’
ผลการวิเคราะห์นี้มาจากหลักฐานที่รวบรวมถึงกุมภาพันธ์ 2021 จัดทำโดย Oxford University Economic Recovery Project (OUERP) และ UN Environment Programme (UNEP) โดยมีใจความสำคัญเพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่า การฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery) หรือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็ง และใขณะเดียวกันยังช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างระดับโลกได้
แต่การใช้จ่ายสีเขียวทั่วโลกตามที่ปรากฏในรายงานนั้น “ไม่สอดคล้องกับระดับของวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินอยู่” ขาดประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะยาว ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้จ่ายเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียทางธรรมชาติ และมลภาวะ
ผลการค้นพบที่สำคัญจากรายงานการวิเคราะห์ในแง่ของการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีดังนี้
- จำนวนเงิน 341 พันล้านดอลลาร์ หรือ 18.0% ถือเป็นการใช้จ่ายเป็นสีเขียว
- มีการลงทุนในพลังงานคาร์บอนต่ำในจำนวนเงิน 66.1 พันล้านดอลลาร์
- ประกาศแผนการใช้จ่ายเงิน 86.1 พันล้านดอลลาร์เพื่อการขนส่งสีเขียว (Green Transport)
- ประกาศแผนการใช้จ่ายเงิน 35.2 พันล้านดอลลาร์เพื่อการพัฒนาอาคารสีเขียว (Green Building)
- ประกาศแผนการใช้จ่ายเงิน 56.3 พันล้านดอลลาร์เพื่อทุนทางธรรมชาติหรือการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature based Solutions: NbS)
- ประกาศแผนการใช้จ่ายเงิน 28.9 พันล้านดอลลาร์เพื่อการวิจัยและการพัฒนาสีเขียว (Green R&D)
เข้าถึง รายงาน Are We Building Back Better? Evidence from 2020 and Pathways for Inclusive Green Recovery Spending
ดู Data Visualization – How are Countries Investing in Recovery? จาก Global Recovery Observatory
Green Recovery เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมาย
- เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่
- เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
- เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
- เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน
- เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ที่มา UNEP