ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนนโดยสหประชาชาติ (United Nations Road Safety Collaboration: UNRSC) กำหนดจัด สัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 6 (The 6th UN Global Road Safety Week) ในระหว่าง 17-23 พฤษภาคม 2021 เพื่อเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายจำกัดการใช้ความเร็วบนถนนในเขตชุมชนที่มีคนเดิน ใช้ชีวิต และเล่น ไว้ที่ 30 กม./ชม. ตามแคมเปญ #Love30 ให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ในการใช้ถนนในเขตชุมชนทั่วโลก
ถนนที่จำกัดความเร็ว 30 กม./ชม. นั้นมีประโยชน์อย่างไร ?
- ถนนจำกัดความเร็ว 30 กม./ชม. นั้นปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ
การจำกัดความเร็วที่ 30 กม./ชม. ปลอดภัยกับทุกคนที่ใช้ถนน โดยเฉพาะกับคนเดินเท้า คนปั่นจักรยาน เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ การใช้ความเร็วเท่านี้ในพื้นที่ชุมชนที่คนเดินและรถใช้ร่วมกัน ช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และเมื่อถนนปลอดภัยขึ้น ก็ช่วยส่งเสริมกิจกรรม เช่น การเดินและปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ
- ถนนจำกัดควมเร็ว 30 กม./ชม. นั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การจำกัดความเร็วที่ 30 กม./ชม. เป็นความพยายามสำคัญในการเปลี่ยนไปสู่การเดินทางที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (zero carbon mobility) ถนนที่สามารถเดินเท้าและขี่จักรยานอย่างปลอดภัยจะช่วยลดความต้องการใช้รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการสร้างทางเลือกการเดินทางที่มีความยั่งยืนมากขึ้น
- ถนนจำกัดความเร็ว 30 กม./ชม. นั้นน่าอยู่
ถนนที่น่าอยู่และเหมาะต่อการใช้ชีวิตเป็นหัวใจสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 และช่วยให้เราบรรลุเป้าประสงค์อื่นๆ ได้ ในยามที่โลกกำลังฟื้นฟูจากโรคระบาดใหญ่ ทุกคนควรได้รับประโยชน์จากถนนความเร็วต่ำ โดยไม่เพียงแต่ได้มีชีวิตเท่านั้นแต่ต้องสร้างการเจริญเติบโตด้วย ถนนที่รถและคนใช้ร่วมกันได้อย่างสมดุลเรียกได้ว่าเป็น ‘ถนนเพื่อชีวิต’
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 6th UN Global Road Safety Week
ถนนปลอดภัย เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ในเป้าประสงค์ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2030 และ เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน ในเป้าประสงค์ 11.2 11.2 จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนเข้าถึงได้ปลอดภัยในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงเป็นพิเศษถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและผู้สูงอายุภายในปี 2030
ที่มา: WHO
Last Updated on มีนาคม 25, 2021