ธนสักก์ เจนมานะ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ระยะเวลาผ่านไปแล้วเกินหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2563 วันแรกที่ประเทศไทยตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 รายแรก ชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของคนไทยได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้หยุดชะงักและทำให้ผู้คนจำนวนมากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลงอย่างน่าเป็นห่วง ไม่ต่างจากกิจกรรมทางสังคมที่เห็นได้จากป้ายประกาศเซ้งร้านเหล้าร้านอาหารหลายแห่ง ในช่วงหนึ่ง ถนนอันเงียบงันยามกลางคืนมีเพียงคนขับมอเตอร์ไซค์ส่งของส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างรีบเร่งในวันที่ไม่มีคนไทยคนไหนอยากออกมาเสี่ยงสุขภาพของตนเอง
โรคระบาดมีบทบาทที่ยิ่งใหญ่มาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ในบางครั้งโรคระบาดเกิดขึ้นในระดับที่ท้าทายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ (pre-existing economic relations) จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางเศรษฐกิจการเมือง เช่น กาฬโรค (plague) ที่ได้ลดจำนวนประชากรอังกฤษวัยทำงานอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการอธิบายความแตกต่างของเงื่อนไขที่นำไปสู่การปะทุขึ้นของการปฏิวัติของทุนนิยม (capitalist revolution) ในอังกฤษตอนเหนือก่อนตอนใต้ (Fochesato, 2018) การระบาดของไข้เหลือง (yellow fever) ที่เกิดขึ้นในเฮติช่วงที่ถูกฝรั่งเศสยุคอาณานิคมควบคุม ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การปฏิวัติและประกาศเอกราชของเฮติเป็นไปได้สำเร็จลุล่วง
จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ถือว่าโรคระบาดมีความสำคัญไม่แพ้กับเหตุการณ์ครั้งใหญ่ทางสังคมรูปแบบอื่น Frank M. Snowden นักประวัติศาสตร์แห่ง Yale University ได้เขียนไว้ในหนังสือ Epidemics and Society ว่า “การระบาดของโรคนั้นเป็นส่วนสำคัญของ ‘ภาพใหญ่’ ของการเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์และการพัฒนา โรคระบาดนั้นมีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจต่อการพัฒนาของสังคม ไม่ต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจ สงคราม การปฏิวัติ และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร” (Snowden, 2019, p. 2) ในการศึกษาประวัติศาสตร์ด้านความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำ Scheidel (2017) ได้สรุปว่าปัจจัยหลักที่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในอดีตมีอยู่แค่ 4 เหตุการณ์ด้วยกัน (โดยเขาได้เรียกอย่างเร้าใจว่า the four horsemen ตามพระคัมภีร์ไบเบิล) ได้แก่ (1) สงครามที่ระดมสรรพกำลังจำนวนมาก – mass mobilization warfare (2) การปฏิวัติที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ – transformative revolution (3) ความล้มเหลวของรัฐ – state failure และ (4) โรคระบาด – epidemics
หลังจากที่ได้หายออกจากประวัติศาสตร์มนุษย์มานาน โรคระบาดครั้งใหญ่ได้กลับมาเตือนเราอีกครั้งถึงความสำคัญของโรคระบาดต่อสังคมมนุษย์ อดีตชี้ให้เห็นแล้วว่า โรคระบาดมีอำนาจโดยธรรมชาติในการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม คำถามที่ตามมาคือ COVID-19 เป็นหนึ่งในโรคระบาดที่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ ผลกระทบของ COVID-19 มีนัยใดบ้างต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสำคัญที่นักสังคมศาสตร์ต้องถามต่อไปในอีกหลายศตวรรษข้างหน้า วันนี้ผมชวนเปิดรายงานภาวะสังคมไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564) และชวนกันตั้งคำถามว่าเราสังเกตเห็นอะไรได้บ้างเกี่ยวกับสภาวะและการเปลี่ยนแปลงของชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรไทย
1. ชีวิตเศรษฐกิจของคนไทยในหนึ่งปีแรกของ COVID-19
ประเด็นแรกที่รายงานเล่มนี้ได้พูดถึงในรายละเอียดคือสถานการณ์ด้านแรงงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์นี้เป็นหนึ่งสถานการณ์หลักที่เราจำเป็นที่จะต้องพูดถึง ทั้งในแง่ความสำคัญในตัวของมันเองที่มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตเศรษฐกิจของคนไทย และในแง่ของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีบทบาทในการกำหนดระดับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ในกรณีของไทย ผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมนั้นไม่ได้เกิดจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยตรง แต่เกิดจากมาตรการรัฐที่ได้ใช้เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรค คำสั่ง lockdown คำสั่งปิดสถานประกอบการ และการแนะนำให้ทำงานจากที่บ้าน ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนผ่านโครงสร้างของตลาดแรงงาน
ในประเด็นแรงงาน รายงานภาวะสังคมไทยชี้ว่าเมื่อเปรียบกับระหว่างปี 2562 และไตรมาสสุดท้ายของ 2563 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 0.37 ล้านคนเป็น 0.74 ล้านคน กล่าวคือเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าหรือประมาณ 370,000 คน ส่งผลให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 1.9% จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่จากระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม และมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเกือบเท่าระดับเดียวกันในปีก่อน ๆ ช่วงสิ้นปี 2563 ในขณะเดียวกันชั่วโมงการทำงานของผู้มีงานทำปรับตัวลดลงจาก 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็น 41.6 ชั่วโมงและมีแนวโน้มว่ากำลังปรับตัวสูงขึ้นสู่สภาวะปรกติ
สิ่งที่สถิติเหล่านี้ไม่ได้กล่าวถึงคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างตลาดแรงงานที่เป็นที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว ในหมู่ผู้มีงานทำ 38 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบถือเป็นสัดส่วน 54% หรือจำนวน 20.4 ล้านคน ซึ่งประชากรไทยเหล่านี้ไม่ได้ถูกครอบคลุมด้วยระบบประกันสังคม (และสำหรับส่วนน้อยที่อยู่ภายใต้มาตรา 40 นั้นก็ไม่รับการช่วยเหลือจากระบบประกันสังคมอย่างอัตโนมัติหากรายได้ลดน้อยลงอันเป็นผลจากนโยบาย lockdown ของรัฐ) นอกจากนี้ รายได้ของแรงงานนอกระบบเหล่านี้น้อยกว่าโดยเฉลี่ยและมีความมั่นคงต่ำ รายงานการสำรวจแรงงานนอกระบบ ปี 2563 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่ามากกว่า 20% ของแรงงานนอกระบบมีปัญหาการว่าจ้างที่ไม่ต่อเนื่อง (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2563) ดังนั้นภาพผู้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่นั้นสะท้อนคนกลุ่มน้อยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ดีกว่าโดยเฉลี่ยเท่านั้นและไม่ได้ให้ฉายภาพให้เห็นคนอีกเกินครึ่งของตลาดแรงงาน
เมื่อเราลงในรายละเอียดของข้อมูลสำรวจสภาวะการทำงาน (LFS) Lekfuangfu et al. (2020) ชี้ว่าผลกระทบทางลบต่อรายได้นั้นกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่ำ และทำงานในรูปแบบที่รับค่าตอบแทนรายชั่วโมงหรือรายวัน ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ที่แรงงานนอกระบบ การสำรวจของ Park et al. (2020) พบว่า 90% ของแรงงานนอกระบบมีรายได้ที่ลดลง โดยส่วนใหญ่ผลกระทบจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบในภาคเหนือและภาคอีสาน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่รายงานภาวะสังคมถึงชี้ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นปรับตัวแย่ลง ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง หนี้ครัวเรือนนั้นปรับตัวสูงขึ้นตลอดตั้งแต่ปี 2561 อยู่แล้ว แต่ในปี 2563 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเดิม จาก 77% ตอนต้นปี 2561 เป็น 78% ต้นปี 2562 และได้เพิ่มเป็น 80% ตอนต้นปี 2563 จนถึง 87% ในไตรมาสที่สาม นอกจากนี้รายงานภาวะสังคมยังดูองค์ประกอบของ “มูลค่า” หนี้ครัวเรือน ซึ่งชี้ว่าหนี้อสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนสูงที่สุดที่ 34% รองมาคือหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ 27.6% โดยได้สรุปว่ายอดคงค้างหนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563
ปัญหาของสถิติดังกล่าวคือ เป็นภาพสัดส่วนมูลค่าของหนี้ครัวเรือน ซึ่งมูลค่าการกู้ยืมเพื่ออสังหาริมทรัพย์นั้นสูงโดยธรรมชาติอยู่แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับหนี้สินประเภทอื่น ๆ โสมรัศมิ์และคณะ (2563) ได้ใช้ข้อมูลจาก NCB (National Credit Bureau) ดูสัดส่วนจำนวน “บัญชีหนี้” ทีมผู้วิจัยพบว่า 80% ของบัญชีหนี้กระจุกตัวอยู่ในหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยเกิดครึ่งของบัญชีหนี้ทั้งหมดนั้นเป็นบัญชีของผู้กู้ที่มีห้าบัญชีหนี้ขึ้นไป และมูลหนี้เสียสูงขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 2553
อีกภาพที่สถิติจากรายงานภาวะสังคมไทยไม่ได้พูดถึง คือความเป็นจริงที่ว่า 86% ของครัวเรือนมีหนี้ทั้งในและนอกระบบ (หนี้นอกระบบถือเป็น 25% ของพอร์ตหนี้ของภาคครัวเรือน) นอกจากนี้ เมื่อจันทรัตน์และคณะ (2563) ได้ดูการกระจายเชิงพื้นที่ของมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อของรัฐจะพบว่า พื้นที่ต่างจังหวัดมีสัดส่วนเข้ามาตรการสูงกว่าและกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับรายได้น้อย (ภาคอีสานและภาคเหนือ) โดยจำนวนผู้มีหนี้เสียลดลงนั้นกับเกิดขึ้นพร้อมกับมูลหนี้เสียที่สูงขึ้น ชัดเจนว่าประเด็นเรื่องหนี้เสียตั้งแต่ในก่อนช่วงโควิดและในปัจจุบันนั้นเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงสถานการณ์ความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างยิ่งในประเด็นตลาดแรงงานและภาวะการเป็นหนี้ของครัวเรือน นี่คือสาเหตุที่ไวรัส COVID-19 ถูกเรียกว่าไวรัสแห่งความเหลื่อมล้ำ เพราะนอกจากมันจะสะท้อนช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคมระหว่างกลุ่มประชากรแล้ว มันยังส่งผลกระทบทางลบต่อสถานการณ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นอีก จนชัดเจนว่า โรค COVID-19 นั้นไม่ใช่หนึ่งในโรคระบาดที่สามารถมีบทบาทลดความเหลื่อมล้ำได้จากงานของ Scheidel (2017) แถมยังน่าจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมปรับตัวแย่ลงอีก
2. สภาวะทางเศรษฐกิจเดินสวนทางกับสภาวะทางสังคม?
ชัดเจนว่าสภาวะของเศรษฐกิจนั้นปรับตัวแย่ลงในเชิงของความกระจุกตัวของผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าเราจะมองในประเด็นของตลาดแรงงานหรือหนี้ครัวเรือนที่รายงานภาวะสังคมได้ยกมา ในขณะเดียวกัน รายงานภาวะสังคมดูเหมือนจะสรุปว่าสภาวะประเด็นเรื่องสังคมในแง่มุมอื่น ๆ นั้นปรับตัวดีขึ้น อุบัติเหตุบนท้องถนนลดน้อยลง อัตราการเกิดโรคเฝ้าระวังลดลง อัตราการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ลดลง การเกิดคดีอาญาลดลง จนเกิดการตั้งคำถามให้กับผู้เขียนว่า สภาวะทางเศรษฐกิจเดินสวนทางกับสภาวะทางสังคมหรือไม่ ในประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่าคำตอบคือไม่น่าจะสวนทางกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นเข้าใจได้ไม่ค่อยยากเท่าไหร่
ในกรณีของอัตราการเกิดโรคเฝ้าระวัง 11 โรค[1] ที่ได้ปรับลดลงจากปี 2562 ถึง 50% นั้นน่าจะเกิดขึ้นเพราะการปรับพฤติกรรมในการเข้าตรวจโรคที่สถานพยาบาลต่าง ๆ น้อยลงเนื่องจาก (1) กลัวความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และ (2) รายได้ของประชากรไทยที่ลดน้อยลง ความเป็นจริงนี้เห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบดูไตรมาสแรกของปี 2563 และ 2562 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการระบาดจะพบว่าจำนวนการเกิดโรคเฝ้าระวังลดลงอย่างมากถึง 82% และเมื่อคลายการล็อคดาวน์ในไตรมาสที่ 2-3 นั้นอัตราการเกิดโรคเฝ้าระวังปรับลดลง 30% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 และท้ายสุดในไตรมาสที่ 4 ที่เกิดการระบาด COVID-19 ระลอกสอง อัตราการเกิดโรคเฝ้าระวังปรับลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2562
การอธิบายสภาวะอื่น ๆ ทางสังคมที่ดูดีขึ้นก็เข้าใจได้ในตรรกะเดียวกัน ผู้คนใช้ถนนน้อยลง ทำให้เกิดอัตราอุบัติเหตุทางท้องถนนลดน้อยลงโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 และ 4 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ในรายงานเองก็ได้ชี้ว่าในไตรมาสที่สามที่ไม่มีนโยบายล็อคดาวน์ อัตราการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกนั้นไม่ต่างจากไตรมาสเดียวกันในปี 2562 ในขณะเดียวกันผู้คนดื่มสุราน้อยลงในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ก็น่าจะเกิดขึ้นจากการประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ที่มีการปิดสถานบันเทิง ค่าใช้จ่ายด้านการบริโภคแอลกอฮอล์ของครัวเรือนลดลงถึง 15% ท้ายที่สุดแล้ว อัตราการสูบบุหรี่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ จำนวนคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ หรือคดีประทุศร้ายต่อทรัพย์มีแนวโน้มปรับลดลงตั้งแต่ต้นปี 2559 อยู่แล้ว (ดูแผนภาพ 12, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2564), หน้า 17)
กล่าวคือ ท้ายที่สุดแล้วในช่วง COVID-19 ที่สภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนมากขึ้นผ่านโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะในคุณลักษณะของตลาดแรงงาน และที่สภาวะสังคมที่แลดูจะดีขึ้นผ่านตัวชี้วัดไม่กี่ตัวที่รายงานภาวะสังคมไทยได้พูดถึง ล้วนเป็นผลกระทบของนโยบายของรัฐที่ได้ออกแบบมาเพื่อลดอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบาดที่เรากำลังต่อสู้อยู่ สองประเด็นนี้ (เศรษฐกิจ v. สังคม) ไม่ได้สวนทางกัน และเป็นไปในทางเดียวกัน นอกจากนี้สำหรับผู้เขียนแล้ว คิดว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ไปในทางเดียวกันอย่างปฏิเสธไม่ได้
3. ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามและจับตามองในระยะยาว
ประเด็นเรื่องผลกระทบของวิกฤต COVID-19 เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคมระหว่างคนไทยกันเอง ลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงลิบลิ่วผ่านการสร้างเศรษฐกิจบนฐานเอนเอียงนั้นมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดังนั้นถ้าหากเราจะพูดถึงเศรษฐกิจที่ควรจะเป็นระยะยาวในเชิงทฤษฎี คำถามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือคำถามเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ว่า ปัจจัยใดจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจที่จะนำไปสู่การแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความยุติธรรมมากขึ้นได้
สำหรับผู้เขียน นอกจากสถิติของภาวะสังคมด้านสุขภาพที่ไม่น่าจะบ่งบอกอะไรได้มากถึงภาวะสุขภาพที่แท้จริงของประชากร ภาวะสังคมในเรื่องของอุบัติเหตุและการดื่มเหล้า ซึ่งน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นตามนโยบายของรัฐ สิ่งที่รายงานภาวะสังคมไทยชี้ให้เห็นคือปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองของไทยที่ปรากฎชัดเจนขึ้นในช่วงของการระบาดของ COVID-19 ปัญหาด้านแรงงานที่รายงานพูดถึงนั้นชี้ให้เห็นเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรวัยทำงานที่อยู่ในระบบที่ติดตามได้ง่าย ในขณะเดียวกัน แรงงานนอกระบบยี่สิบกว่าล้านรายไม่ได้ถูกพูดถึง ไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลไทยมีปัญหาในการออกแบบและประกาศใช้มาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบ เนื่องจากการติดตามสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนเหล่านี้เป็นไปได้ยาก ตามธรรมชาติของความที่ไม่ได้ถูกดึงเข้ามาในระบบสวัสดิการของรัฐ
COVID-19 ไม่น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงถ้าหากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ประเด็นเรื่องความยุติธรรมในระบบการผลิตไทย
ที่ชัดเจนคือ COVID-19 ไม่น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงถ้าหากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ประเด็นเรื่องความยุติธรรมในระบบการผลิตไทย ที่ชัดเจนขึ้นและปรับตัวแย่ลงระหว่างการระบาดของ COVID-19 ไม่นำไปสู่การตั้งคำถามและถกเถียงถึง “ความยุติธรรม” ในระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย ไม่ว่าจะในวงการวิชาการ สื่อสาธารณะ หรือพื้นที่ทางการเมืองต่าง ๆ เช่นในสถาบันครอบครัวหรือพื้นที่ในสภา นอกจากนี้คำตอบต่อคำถามที่ว่าความยุติธรรมในระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยควรจะหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับภาพความเข้าใจของแต่ละปัจเจกชนไทยมีว่าความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาต่าง ๆ ระหว่างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร
แต่กระนั้นเอง แน่นอนว่าไม่มีใครเห็นด้วยตรงกันหมดได้ว่าภาพที่ว่านี้เป็นอย่างไร หรือความยุติธรรมควรจะเป็นอย่างไร และถึงแม้ว่าจะเห็นตรงกัน ก็อาจจะไม่เห็นด้วยถึงวิธีการและลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ว่านั้น ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า COVID-19 จะสามารถมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็ต่อเมื่อมี “การเมืองที่ดี” กล่าวคือ มีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนแลกเปลี่ยนกันถึงทัศนคติ ความเชื่อ และความคิดเห็นที่มีต่อปัญหาเศรษฐกิจการเมืองและการแก้ไขในอนาคต สิ่งที่หน้าเศร้าคือ COVID-19 น่าจะมีแต่ผลทางลบ แม้ว่ามันจำให้ภาพปัญหาต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น ผู้คนเห็นความสำคัญมากขึ้น แต่ระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลปัจจุบันนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนผ่านพื้นที่สาธารณะที่ควรจะเกิดขึ้น ผู้เขียนจึงคิดว่าท้ายที่สุด ประเด็นเรื่องการแก้ไขหรือโละรัฐธรรมนูญปี 60 ปัญหาการผูกขาดอำนาจทางการเมืองผ่านสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน หรือการทำร้ายประชาชนที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองโดยรัฐบาลประยุทธ์เป็นใจกลางสำคัญของปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว
สิ่งที่ผู้เขียนเห็นจึงมีแต่ความท้าทายระยะยาว และเป็นโจทย์ให้ถกเถียงกันไปอีกนาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่มีทางปรับตัวดีขึ้นในระยะยาวแถมยังโดนซ้ำเติมด้วยโรคระบาด หนี้ครัวเรือนและหนี้เสียกระจุดตัวอยู่ในประชากรที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ รายได้ของแรงงานนอกระบบหดหายจากเศรษฐกิจที่หดตัวและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ชะงักงัน ในขณะเดียวกันที่แรงงานในระบบโดยเฉพาะกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10% สามารถทำงานจากบ้านได้ ลดค่าใช้จ่าย และสามารถหาผลตอบแทนทางการเงินจากเงินเก็บที่เพิ่มมากขึ้น สุดท้ายแล้ว COVID-19 ช่วยให้เราเห็นภาพปัญหาชัดเจนขึ้น แต่การเมืองไม่ได้ช่วยให้เราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นเลย
[1] ได้แก่ ปอดอักเสบ ไข้เลือดออก มือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ บิด หัด ฉี่หนู สมองอักเสบ อหิวาตกโรค ไข้กาฬหลังแอ่น และพิษสุนัขบ้า การเก็บข้อมูลอัตราการเกิดโรคเฝ้าระวัง เป็นการรายงายสถิติ ผู้ป่วยที่สงสัย (suspected cases) ไม่ใช่ ผู้ป่วยที่ยืนยัน (confirmed cases) ผ่านการตรวจผู้ป่วยในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล และสถานีอนามัยของรัฐ
หมายเหตุ : *ทัศนะ ข้อคิดเห็นที่ปรากฎ เป็นความเห็นส่วนบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับทัศนะขององค์กร*