อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ[1]
หลายปีมานี้ในช่วงต้นปี ผู้คนกว่าสามล้านสามแสนคน[2] ที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนจะต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศจาก PM2.5 อย่างหนักด้วยสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจราจร การเผาป่าเพื่อการเกษตร ไฟป่า การเผาขยะ ประกอบกับความกดอากาศต่ำและภูมิศาสตร์แบบแอ่งกระทะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง ในแต่ละปีสถานการณ์ฝุ่นจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 คุณภาพอากาศของเชียงใหม่ถือว่าย่ำแย่สูงสุดที่ 215 USAQI และปริมาณ PM2.5 พุ่งสูงถึง 162.8 µg/m3 ซึ่งได้เกินค่ามาตรฐานไปมากจนกลายเป็นจังหวัดที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันหลายวัน
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ต้องหายใจเพื่อมีชีวิต อากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต ขณะเดียวกัน ชีวิตจะจบลงได้ก็ด้วยการหยุดหายใจ ดังนั้นอากาศจึงเป็นสิ่งที่ร่างกายขาดไม่ได้ แต่อากาศสกปรกกลับทำให้เสียชีวิต ในปี ค.ศ. 2019 องค์การอนามัยโลกประเมินว่า มีผู้คนทั่วโลกกว่าร้อยละ 90 กำลังฆ่าตัวตายลงทุกๆ วันจากการหายใจเอาอากาศสกปรกหรืออากาศที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำในทวีปเอเชียและอัฟริกา[3] อากาศสะอาดจึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตและความเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศลงให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030
แม้ว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal: SDGs ไม่ได้มีเป้าหมายโดยตรงเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ แต่ประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศถูกสอดแทรกอยู่ในเป้าหมายต่างๆ เช่น
○ SDG 3.9 ที่พยายาม “ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและมลพิษทางอากาศน้ำและดิน และการปนเปื้อนให้ได้” ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีตัวชี้วัดคืออัตราการเจ็บป่วยและการตายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ○ SDG 7.1 ที่เน้นการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และ SDG 7.2 การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดการปล่อยมลพิษไปเข้าสู่อากาศลง ○ SDG 11.2 ที่เน้นเข้าถึงการขนส่งที่ยั่งยืนและ SDG 11.6 เรื่องเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ที่พยายามลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองโดยเน้นคุณภาพอากาศในเมือง และการจัดการของเสียของเทศบาล ○ SDG 12.4 ที่พยายามลดการปล่อยสารเคมีสู่อากาศ น้ำ และดินเพื่อลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ○ SDG 13.2 ที่การบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ รวมถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement on climate change)
PM2.5 ในประเทศจีน
เช้าวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2021 ชาวปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องตื่นขึ้นมาพบกับท้องฟ้าสีส้มและเศษฝุ่นจำนวนมหาศาลปลิวล่องลอยอยู่ในอากาศที่พวกเขาหายใจ ชาวปักกิ่งมองไม่เห็นแม้แต่ทางเดินด้านหน้า เครื่องวัดคุณภาพอากาศวัดคุณภาพอากาศได้ 655 USAQI ซึ่งถือว่า “เป็นอันตราย” (hazardous) ขณะที่อนุภาคอื่นๆ เช่น PM10 นั้นมีปริมาณสูงเกินกว่าที่เครื่องจะวัดได้ (ทะลุ 999 µg/m3)[4] กรุงปักกิ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองที่กลับมาประสบปัญหา PM2.5 ถึงขั้นวิกฤติรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลโดยตรงต่อปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เช่นกัน จีนผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง (ค.ศ. 1945-1976) ต่อมานโยบาย “สี่ทันสมัย” (Four Modernization) เน้นการปฏิรูป 4 ด้าน คือ การเกษตร การอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ ได้ถูกประกาศใช้ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง (ค.ศ. 1981- 1987) ผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนขณะนั้น จีนเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจแนวชายฝั่งตะวันออก เช่น นครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิง และเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง โดยรัฐบาลได้ลงทุนในด้านสาธารณูปโภคเป็นจำนวนมาก เช่น การก่อสร้างถนน ตึก อาคาร ถนน วางระบบเรื่องน้ำประปาและไฟฟ้าเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ และการเปิดประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเร็วมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการตั้งวิสาหกิจขนาดเล็กในระดับท้องถิ่นกว่า 12 ล้านแห่ง มีการปฏิรูประบบการเงินการธนาคารเชิงพาณิชย์ และทำการเปิดตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange: SSE) อีกครั้งในปี ค.ศ. 1990[5]
“ด้วยแนวคิดเรื่องผลผลิตทางเศรษฐกิจและการสร้างมั่งคั่งให้คนจีนโดยไม่สนใจว่าต้องมีสูญเสียทรัพยากรไปมากเพียงใด แต่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจกลับต้องแลกมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มลพิษทางน้ำ ทางดิน ทางอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม”
นโยบายสี่ทันสมัยนำพาจีนไปสู่ระบบ “สังคมนิยมโดยรัฐผนวกตลาด” (State-Socialism-Plus-Market) หรือ “สังคมนิยมแบบจีน” (Socialism with Chinese Characteristics) เพื่อให้เศรษฐกิจเป็นไปตามระเบียบโลกแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) แต่การปกครองยังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ เศรษฐกิจของประเทศจีนเติบโตขึ้นมาอย่างมากในช่วงสองทศวรรษ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “To Get Rich Is Glorious”[6] ด้วยแนวคิดเรื่องผลผลิตทางเศรษฐกิจและการสร้างมั่งคั่งให้คนจีนโดยไม่สนใจว่าต้องมีสูญเสียทรัพยากรไปมากเพียงใด แต่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจกลับต้องแลกมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มลพิษทางน้ำ ทางดิน ทางอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ตามรายงานของธนาคารโลกพบว่า “แหล่งน้ำสะอาดในประเทศจีนหายากและไม่ทั่วถึง”[7]
นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศในจีนได้กลายเป็นปัญหาสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหมอกพิษหรือควัน ความรุนแรงของฝุ่นละอองในอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ในปี ค.ศ. 2013 ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ในเมืองหลวง มณฑลเหอเป่ยสูงถึง 393 µg/m3 ต่อมาเกือบหนึ่งสัปดาห์มีค่าสูงเกิน 500 µg/m3 ในเมืองใหญ่หลายๆ เมืองก็ประสบปัญหาคุณภาพอากาศ เช่น กรุงปักกิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้ และเมืองฮาร์บินทางตอนเหนือของจีนที่ประชาชนยังต้องพึ่งพาความร้อนจากหม้อต้มถ่านหินขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก มลพิษที่มาจากถ่านหินเกิดขึ้นมากในเดือนตุลาคม จนทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองเหล่านี้ถูกบดบังทัศนวิสัยจนมองเห็นได้ไม่ไกลเกินกว่า 10 เมตร
ในการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2013 ได้นำเสนอสถิติที่น่ากลัวว่าวิกฤติมลพิษฝุ่นละอองในอากาศของประเทศจีนมีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรกว่า 1.2 ล้านคน รายงานชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังประสบกับมลพิษทางอากาศในระดับร้ายแรงที่สุดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ารัฐบาลจีนกำลังทำอะไรบ้างเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยอันตรายจากมลพิษทางอากาศ หากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมแบบนี้ต่อไป ทุกๆ ปีอาจมีประชาชนจีนกว่า 3.6 ล้านคนเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากมลพิษได้[8]
การแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผล
แม้ว่ารัฐธรรมนูญสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี ค.ศ. 1982 จะบัญญัติให้สภาประชาชนแห่งชาติจีน เป็น ‘องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ’ แต่ในทางปฏิบัติพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจเต็มในการกำหนดนโยบายของประเทศโดยมีเลขาธิการพรรคที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศและคณะกรรมาธิการทหารโดยปริยาย[9] เราจึงไม่เห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางและนโยบายของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงแรกชาวจีนจะมีความรู้อย่างจำกัดเกี่ยวกับพฤติกรรมของตนที่ส่งผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้หลายนโยบายที่ภาครัฐประกาศใช้ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเท่าที่ควร เช่น ในกรุงปักกิ่ง รัฐบาลประกาศให้ประชาชนหยุดปิ้งย่างอาหารนอกอาคาร (ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการปรุงอาหารที่แพร่หลายของชาวปักกิ่งอยู่แล้ว) ห้ามประชาชนเผาถ่าน กำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยของเสียของรถยนต์ จำกัดจำนวนรถยนต์โดยการกำหนดขับรถในวันคู่-วันคี่ตามทะเบียนรถ เป็นต้น แต่ประชาชนกลับไม่เข้าใจว่านโยบายเหล่านี้ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อย่างไร
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการจำกัดจำนวนยานยนต์ในกรุงปักกิ่ง ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2008 รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนขับรถเข้ามาในเมืองปักกิ่งได้ในวันคู่และวันคี่ตามทะเบียนรถ เพื่อลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนในเมืองภายใต้ชื่อโครงการ “หนึ่งวันต่อสัปดาห์” (One-day-a-week) โดยได้แบ่งเลขตัวสุดท้ายของป้ายทะเบียนออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
● กลุ่ม (1) คือเลข 0 และ 5 | ● กลุ่ม (4) คือเลข 3 และ 8 |
● กลุ่ม (2) คือเลข 1 และ 6 | ● กลุ่ม (5) คือเลข 4 และ 9 |
● กลุ่ม (3) คือเลข 2 และ 7 |
การจัดระเบียบแบบนี้ก็เพื่อห้ามไม่ให้รถที่มีเลขท้ายในแต่ละกลุ่มขับเข้าเมืองภายในถนนวงแหวนรอบที่ 5 ในวันธรรมดาและวันที่กำหนด ระหว่างเวลา 06.00 น.-21.00 น. แต่ยังสามารถขับในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดราชการได้[10] ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเล็กน้อยคือเปลี่ยนเวลาเป็น 07.00 น.-20.00 น. แทน และตัวเลขทะเบียนจะหมุนเวียนทุก 3 เดือนเพื่อให้มีการสับเปลี่ยนวันที่กำหนด[11]
หลังจากประกาศใช้นโยบายนี้ รัฐบาลจีนพบว่าประชาชนทำตามน้อยมาก แทนที่จะช่วยลดปริมาณยานพาหนะบนท้องถนนในตัวเมืองและคุณภาพอากาศ ในทางตรงกันข้าม มันกลับทำให้คนจีนชนชั้นกลางซื้อรถยนต์เพิ่มมากขึ้นและมีป้ายทะเบียนทั้งเลขคู่และเลขคี่ เพื่อให้พวกเขาขับรถยนต์เข้าไปในเมืองได้ทุกวัน ดังนั้น ภาคประชาชนในประเทศจีนไม่ได้มีความเข้าใจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศ ขณะที่ประชาคมโลกต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 2008 สถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงปักกิ่งเริ่มเผยแพร่ค่าความเข้มข้นของการตรวจสอบคุณภาพอากาศผ่านสื่อออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์และเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับรายงานคุณภาพอากาศของรัฐบาลจีน จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลจีนกำลังปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลคุณภาพอากาศอยู่หรือไม่ ในปี ค.ศ. 2013 ค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเพิ่งสูงมากขึ้นจนเลยค่าที่เครื่องวัดคุณภาพอากาศจะอ่านค่าได้ วิกฤตินี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลจีนไม่อาจนิ่งเฉยต่อวิกฤติคุณภาพอากาศในประเทศของตนเองได้อีกต่อไป
สงครามต่อต้านมลพิษ (War against Pollution)
การแสดงบทบาทนำทางการเมืองและการใช้นโยบายที่เด็ดขาดเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนถนัด ในปี ค.ศ. 2013 พรรคคอมมิวนิสต์นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกำหนดให้มลพิษทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติ ถึงขั้นที่ว่ากลายเป็นหนึ่งใน “การต่อสู้ที่ยากลำบากสามครั้ง” ของจีนควบคู่ไปกับการต้องสู้กับความยากจนและเสถียรภาพทางการเงิน รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายสำคัญหลายประการเพื่อจัดการปัญหามลพิษ มีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ (Airborne Pollution Prevention and Control Action Plan) ซึ่งถือว่าเป็นแผนปฏิบัติการอากาศสะอาดที่เข้มงวดและครอบคลุมที่สุดเท่าที่จีนเคยมีมา แผนนี้เสริมสร้างมาตรฐานการปล่อยมลพิษในอุตสาหกรรม การปรับปรุงคุณภาพหม้อไอน้ำในภาคอุตสาหกรรม การสั่งให้อุตสาหกรรมที่ล้าสมัยยุติการดำเนินงาน การส่งเสริมเชื้อเพลิงสะอาดในภาคต่างๆ การระบุมาตรฐานพื้นที่อยู่อาศัยเป็น 4 ระดับเพื่อเป็นมาตรวัดในการลดการปล่อยก๊าซ การปรับปรุงคุณภาพอากาศ เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน[12]
ในปี ค.ศ. 2014 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงประกาศ “สงครามต่อต้านมลพิษ” (War against Pollution) ในพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุดในประเทศ ได้แก่ ปักกิ่ง–เทียนจิน–เหอเป่ย (Beijing–Tianjin–Hebei Region หรือ Jing-Jin-Ji Region) สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี[13] โดยได้ประกาศแผนปฏิบัติการคุณภาพอากาศแห่งชาติเพื่อลด PM10 ลงร้อยละ 10 ภายในห้าปี มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 270,000 ล้านดอลลาร์และรัฐบาลกรุงปักกิ่งได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 120,000 ล้านดอลลาร์เพื่อลดมลพิษทางอากาศโดยรอบในทุกเขตเมือง[14]
ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2014 สำนักงานกิจการนิติบัญญัติของสภาแห่งรัฐ (State Council) ของจีน ได้เผยแพร่ร่างการแก้ไขกฎหมายป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศแห่งชาติ (National Air Pollution Prevention and Control Law) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 เพื่อเปิดรับข้อคิดเห็นของภาคประชาชนซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน การแก้ไขครั้งล่าสุดมีความก้าวหน้าหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเด็นสำคัญคือเรื่องคุณภาพอากาศถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจีนจะต้องแสดงความรับผิดชอบในการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการคุณภาพอากาศในระดับภูมิภาค เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะได้รับการประเมินการปฏิบัติงานตามเป้าหมายคุณภาพอากาศและเผยแพร่ผลการวิจัยสู่สาธารณะ รัฐบาลต้องมีระบบควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมทั้งมีมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากถ่านหินยานยนต์ อุตสาหกรรม ฝุ่นละออง และแหล่งเฉพาะอื่นๆ และสร้างเครือข่ายการตรวจสอบคุณภาพในระดับชาติ ในที่สุด ร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ได้ผ่านการพิจารณาโดยสภาแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2014
นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะห้าปี (Five-Year Plan :FYP) ฉบับที่ 13 ของจีน (ปี ค.ศ. 2016–2020) มีความมุ่งมั่นอย่างมากในการปรับปรุงคุณภาพอากาศและควบคุมการปล่อยมลพิษ โดยแผนดังกล่าวได้อธิบายถึงแผนปฏิบัติการอากาศบริสุทธิ์ของประเทศ เอาไว้อย่างชัดเจนว่าจีนจะทำตามมาตรฐานคุณภาพอากาศในเมือง ต้องลดจำนวนวันที่มีมลพิษทางอากาศได้ถึงร้อยละ 25 ในเขตเมือง และลดการปล่อยฝุ่นละอองอย่างละเอียดในภูมิภาคสำคัญๆ พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบฝุ่นละอองที่เข้มงวด กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ จนมีการกำหนดระดับความเข้มงวดการปล่อยมลพิษไอเสียจากยานพาหนะ (China V) ซึ่งเป็นมาตรฐานการปล่อยมลพิษของจีนและเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น[15] ส่งผลให้รัฐบาลวางแผนดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ปิดโรงงานที่ปล่อยควันมลพิษเกินมาตรฐานกว่า 2,500 แห่ง ปิดโรงไฟฟ้าพลังความร้อน สร้างระบบพลังงานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง และกระตุ้นให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้จีนได้ตั้งเป้าหมายการปรับปรุงสภาพแวดล้อมไปในทางที่ดีขึ้นในทุกด้านภายใน 20 ปี[16]
นอกจากกฎหมายและแผนปฏิบัติการแล้ว รัฐบาลจีนยังมีกลยุทธ์ที่สำคัญในการควบคุมมลพิษคือ การสร้างแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เช่น การให้รางวัล เจ้าหน้าที่จะเลื่อนตำแหน่งได้ขึ้นอยู่กับผลงานการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและมีผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การลงโทษในเชิงบังคับ เช่น ห้ามก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในบางภูมิภาคและกำหนดให้โรงไฟฟ้าถ่านหินลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือเปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติแทน เพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน ลดกำลังการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าในอุตสาหกรรม จำกัดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ยกระดับการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษให้มีความโปร่งใสมากขึ้น
จากการให้รางวัลและการลงโทษในเชิงบังคับตามแผนปฏิบัติการลดมลพิษของรัฐบาลจีน ทำให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อลดมลพิษลงอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าหลายมาตรการจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมาก เช่น ในระหว่างปี ค.ศ. 2018-2020 รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงในครัวเรือนอย่างเข้มงวด หากภูมิภาคใดไม่สามารถควบคุมมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศแห่งชาติที่ระดับ 35 µg/m3 ได้ก็จะต้องลดมลพิษลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปริมาณมลพิษที่เมืองนั้นปล่อยในปี ค.ศ. 2015 ขณะที่บางเมืองได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและเข้มงวดกว่ามาตรฐานระดับชาติ เช่น กรุงปักกิ่งมีเป้าหมายลดระดับมลพิษในปี ค.ศ. 2020 ให้ต่ำลงร้อยละ 30 ของปริมาณมลพิษในปี ค.ศ. 2015[17]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 รัฐบาลได้ประกาศแผนการยกเลิกเครื่องทำความร้อนที่ใช้ถ่านหินแล้วเปลี่ยนให้เป็นเครื่องทำความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเท่านั้น รวมถึงเปลี่ยนระบบทำความร้อนในครัวเรือนให้เป็นแบบใช้ไฟฟ้าเท่านั้น แผนการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อครัวเรือนกว่า 1.2 ล้านหลังใน 11 เมือง ในปี ค.ศ. 2019 เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการรื้อถอนเตาถ่านหินออกจากบ้านหลายหลังในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวโดยที่ยังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ทดแทน ทำให้หลายครัวเรือนไม่มีเครื่องทำความร้อนใช้ในฤดูหนาว ในช่วงเวลาเดียวกันนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในมณฑลเหอเป่ยต้องออกมาเรียนด้านนอกอาคารเพื่อรับแสงแดดให้เกิดความอบอุ่นเพราะห้องเรียนขาดเครื่องทำความร้อน เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อสาธารณชน ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้รัฐบาลลดความเข้มงวดลงและดำเนินการตามแนวทางที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
เมื่อท้องฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าอีกครั้ง
หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบาย “สงครามต่อต้านมลพิษ” อย่างเข้มงวดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 ผลที่ได้คือคุณภาพอากาศในประเทศจีนเริ่มดีขึ้น ในช่วงปี ค.ศ. 2000–2018 ความเข้มข้นของ PM2.5 ในเขตเมืองสูงกว่าในพื้นที่ชนบทโดยเฉลี่ย 3.3 µg/m3 แต่ระหว่างปี ค.ศ. 2013-2016 ประเทศจีนมีความก้าวหน้าในการควบคุมและลดความเข้มข้นของ PM2.5 ทั่วประเทศ ความเข้มข้นของ PM2.5 โดยรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเขตปักกิ่ง–เทียนจิน–เหอเป่ย ลดลงอย่างมากจาก 100.1 µg/m3 ในปี ค.ศ. 2013 เหลือ 72.5 µg/m3 ในปี ค.ศ. 2016[18] นอกจากนี้ ระหว่างปี ค.ศ. 2013–2018 ความเข้มข้นของ PM2.5 ในเขตเมืองได้ลดลงอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 49[19]
ในปี ค.ศ. 2018 จีนประกาศแผนปฏิบัติการสามปีฉบับใหม่ปี ค.ศ. 2018-2020 เพื่อเอาชนะท้องฟ้าให้กลับมาเป็นสีฟ้า (The new 2018-2020 Three-year Action Plan for Winning the Blue Sky War) แผนฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะห้าปีฉบับที่ 13 ที่ต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายให้ปริมาณ PM2.5 ในเขตเมืองและเขตมณฑลลดลงอย่างน้อยร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2015 ให้มีการลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนออกไซด์ให้ได้มากกว่าร้อยละ 15 และลดการใช้ถ่านหินให้ได้ 180 ล้านตันเพื่อฟื้นฟูโอโซน (O3) ในชั้นบรรยากาศโลกภายในปี ค.ศ. 2020
“นโยบายอากาศบริสุทธิ์ของจีนเป็นตัวอย่างสำคัญของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สะอาดและยั่งยืน เพราะการลดความเข้มข้นของ PM2.5 ในจีนไม่ได้ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลง”
ดังนั้น ปี ค.ศ. 2020 จึงเป็นปีสำคัญของจีนในการสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองในระดับปานกลาง (Moderately prosperous society) ในทุกด้าน เป็นปีสุดท้ายของแผนห้าปีฉบับที่ 13 และเป็นปีที่รัฐบาลจีนใช้นโยบายขั้นเด็ดขาดในการจัดการกับวิกฤติมลพิษภายในประเทศ[20] แม้ปัจจุบันจีนก็ยังไม่สามารถลดระดับ PM2.5 เฉลี่ยที่ 10 µg/m3 ซึ่งเป็นถึงมาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้วตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดได้และข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่ากว่า 231 เมืองจาก 338 เมืองในจีนที่ระดับ PM2.5 ยังไม่ผ่านเกณฑ์เฉลี่ย 35 µg/m3 ซึ่งเป็นมาตรฐานชั่วคราวขององค์การอนามัยโลก[21] อย่างไรก็ตาม นโยบายอากาศบริสุทธิ์ของจีนเป็นตัวอย่างสำคัญของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สะอาดและยั่งยืน เพราะการลดความเข้มข้นของ PM2.5 ในจีนไม่ได้ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลง แม้จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่รัฐบาลจีนก็ต้องดำเนินการปรับปรุงคุณภาพอากาศในประเทศจีนต่อไป
รัฐบาลจีนยังต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อต่อสู้กับมลพิษ แต่เจ็ดปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ประกาศสงครามกับมลพิษในปี ค.ศ. 2014) รัฐบาลจีนแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถทำให้ท้องฟ้าของกรุงปักกิ่งกลับมาสดใสได้อีกครั้งหนึ่ง ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ในกรุงปักกิ่งค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จากค่าเฉลี่ย 174.25 µg/m3 ในปี ค.ศ. 2017 เหลือ 104 µg/m3 ในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งทำให้กรุงปักกิ่งมีจำนวนวันที่อากาศสดใสมากขึ้น โดยเฉพาะในเดือนกันยายนมีจำนวนวันถึง 20 วันที่มีอากาศสะอาดมากที่สุดของกรุงปักกิ่ง[22]
ในทางกลับกัน เดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ในกรุงปักกิ่งกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งจนแตะที่ระดับ “เป็นอันตราย” แม้ว่ารัฐบาลจีนจะเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาหมอกควันที่มาจากพฤติกรรมของมนุษย์มากเพียงใด กรุงปักกิ่งและจีนตอนเหนือยังต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นที่เป็นผลจากภูมิศาสตร์และธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ท้องฟ้าในกรุงปักกิ่งที่มีสีส้มในเดือนมีนาคมและอาจจะยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคมสะท้อนให้เห็นว่าฝุ่นครั้งนี้คือพายุทรายที่พัดมาจากเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีนและประเทศมองโกเลีย ทำให้คนปักกิ่งใช้ชีวิตยากขึ้นและทัศนวิสัยลดลง เครื่องบินต้องเลื่อนเวลาเดินทางหรือยกเลิกเที่ยวบินไป ในช่วงเวลาดังกล่าวค่า PM2.5 ในกรุงปักกิ่งเคยสูงเกินเครื่องวัดคุณภาพอากาศ (ทะลุ 1000 USAQI) มาแล้ว[23]
จีนมีส่วนสำคัญในการควบคุมการปล่อยมลพิษในระดับโลก ในปี ค.ศ. 2017 จีนกลายเป็นแหล่งลงทุนด้านพลังงานสะอาดชั้นนำระดับโลก มีการก่อตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดและจีนเองก็มีแผนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกว่า 3 พันล้านตัน (หรือประมาณร้อยละ 30) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าแผนการซื้อขายของสหภาพยุโรปกว่าสองเท่า (China Power, 2020) นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังผสมผสานกลยุทธ์ ‘สีเขียว’ (green strategies) เข้ากับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ บน ‘เส้นทางสายไหมใหม่’ หรือ ‘ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative: BRI) แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าการลงทุนด้านพลังงานโดยรัฐวิสาหกิจของจีนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้ประเทศที่ร่วมลงทุนกับจีนยังคงต้องอาศัยแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมที่มีมลพิษสูงมากต่อไปอีกหลายทศวรรษ
ในปี ค.ศ. 2015 จีนลงนามในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จีนจึงมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเป็นร้อยละ 20 ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสในปี ค.ศ. 2017 ทำให้รัฐบาลจีนมีบทบาทนำในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจีนจะประสบความสำเร็จกับการต่อสู้ในสงครามมลพิษทางอากาศ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจีนจะปฏิบัติตามพันธะสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศโลก เพราะรัฐบาลจีนอาจจะต้องยอมลดระดับความเป็นอยู่ที่ดีและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในประเทศ ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของรัฐบาลจีน
สรุป: ส่องจีนสะท้อนไทย
ประเทศไทยเรียนรู้ได้จากบทเรียนของประเทศจีน ในช่วงเจ็ดถึงแปดปีผ่านมารัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพอากาศและการแก้ปัญหา PM2.5 ที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ รัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อม โดยไม่ดูแคลนปัญหาคุณภาพอากาศว่าเป็นเพียงปัญหาในระดับท้องถิ่น แต่กลับได้ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ ประกาศสงครามต่อต้านมลพิษอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อเผชิญหน้ากับมลพิษโดยตรง มีแรงจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าหลายมาตรการจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของผู้คน เช่น การรื้อถอนเตาความร้อนถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก๊าซในครัวเรือน ในภาคอุตสาหกรรม มีความเข้มงวดในการจำกัดการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ (China V) การบังคับให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดทดแทนเพื่อความยั่งยืน
ผลการดำเนินนโยบายอย่างจริงจังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จากการตรวจวัดปริมาณมลพิษทางอากาศในเมือง (Urban air pollution) ของจีนพบว่ามลพิษในระดับพื้นดิน (Ground-level pollution) ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 32 นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 Global Urban Air Pollution Observatory คาดว่าหากจีนสามารถรักษาระดับการลดลงของฝุ่นละอองในอากาศได้อย่างยั่งยืน ประชาชนชาวจีนจะมีอายุยืนขึ้นกว่า 2.3 ปี[24]
[1] อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
[2] ข้อมูลจำนวนประชากรจากสำนักงานทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี ค.ศ. 2020
[3] WHO, “9 out of 10 People Worldwide Breathe Polluted Air, but More Countries Are Taking Action.”
[4] The Economist, “Why Is Beijing’s Air Quality so Bad Again?”
[5] ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เปิดครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1860 แล้วปิดไป 41 ปีในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม
[6] deLisle and Goldstein, To Get Rich Is Glorious.
[7] Xie, “Addressing China’s Water Scarcity: Recommendations for Selected Water Resource Management Issues,” 20.
[8] Wong, “Air Pollution Linked to 1.2 Million Premature Deaths in China (Published 2013).”
[9] Lawrence, “China’s Political Institutions and Leaders in Charts.”
[10] นโยบายนี้ไม่รวมรถบริการสาธารณะ (เช่น รถดับเพลิง รถตำรวจ) รถขนส่งมวลชนและรถฉุกเฉิน
[11] Chetpayark, “จีนเดียวเป็นไปได้ไหม ?”; Xin and Lan, “New Rules to Combat Pollution – Business – Chinadaily.Com.Cn.”
[12] Ning and Lee, “Estimating the Young Generation’s Willingness to Pay (WTP) for PM2.5 Control in Daegu, Korea, and Beijing, China.”
[13] WenBo et al., “Numerical study on the characteristics of regional transport of PM2.5 in China.”
[14] Greenstone and Fan, “Indonesia’s Worsening Air Quality and Its Impact on Life Expectancy.”
[15] Transport Policy, “China: Heavy-Duty: Emissions”; Yang and He, “China’s Stage VI Emissions Standard for Heavy-Duty Vehicles.”
[16] Guo Jian and นรชาติ วัง, “การวิเคราะห์นโยบายด้านยุทธศาสตร์ ‘ยุคสมัยใหม่’ ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง.”
[17] AQLI, “China Fact Sheet.”
[18] Ning and Lee, “Estimating the Young Generation’s Willingness to Pay (WTP) for PM2.5 Control in Daegu, Korea, and Beijing, China.”
[19] Xiao et al., “Changes in Spatial Patterns of PM2.5 Pollution in China 2000–2018.”
[20] Xiaoxia, “China Focus: China to Strengthen Fight against Environmental Pollution in 2020 – Xinhua | English.News.Cn.”
[21] Chetpayark, “จีนเดียวเป็นไปได้ไหม ?”; Hao, “China Releases 2020 Action Plan for Air Pollution.”
[22] World Air Quality Index, “Beijing US Embassy, Beijing Air Pollution.”
[23] BBC News, “พายุทรายพัดปกคลุมปักกิ่งและจีนตอนเหนือ.”
[24] Greenstone and Fan, “Indonesia’s Worsening Air Quality and Its Impact on Life Expectancy.”
เอกสารอ้างอิง
AQLI. “China Fact Sheet,” 2020. https://aqli.epic.uchicago.edu/reports/.
BBC News. “พายุทรายพัดปกคลุมปักกิ่งและจีนตอนเหนือ.” BBC News, 2017. https://www.bbc.com/thai/international-39804553.
Chetpayark, Karoonporn. “จีนเดียวเป็นไปได้ไหม ? สรุปความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนของจีน กับพื้นที่ต่างๆ.” The MATTER, September 8, 2020. https://thematter.co/quick-bite/chinese-authorities-conflict/122968.
deLisle, Jacques, and Avery Goldstein. To Get Rich Is Glorious. Brookings Institution Press, 2019. https://www.brookings.edu/book/to-get-rich-is-glorious/.
Greenstone, Michael, and Qing (Claire) Fan. “Indonesia’s Worsening Air Quality and Its Impact on Life Expectancy.” The Air Quality Life Index, 2019.
Guo Jian and นรชาติ วัง. “การวิเคราะห์นโยบายด้านยุทธศาสตร์ ‘ยุคสมัยใหม่’ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง.” MFU Connexion: Journal of Humanities and Social Sciences 7, no. 2 (December 28, 2018): 198–222.
Hao, Feng. “China Releases 2020 Action Plan for Air Pollution.” China Dialogue (blog), July 6, 2018. https://chinadialogue.net/en/pollution/10711-china-releases-2-2-action-plan-for-air-pollution/.
Lawrence, Susan V. “China’s Political Institutions and Leaders in Charts.” Congressional Research Service, November 12, 2013. https://fas.org/sgp/crs/row/R43303.pdf.
Ning and Lee. “Estimating the Young Generation’s Willingness to Pay (WTP) for PM2.5 Control in Daegu, Korea, and Beijing, China.” Sustainability 11 (October 15, 2019): 5704. https://doi.org/10.3390/su11205704.
The Economist. “Why Is Beijing’s Air Quality so Bad Again?” The Economist, March 15, 2021. https://www.economist.com/the-economist-explains/2021/03/15/why-is-beijings-air-quality-so-bad-again.
Transport Policy. “China: Heavy-Duty: Emissions.” Transport Policy, 2018. https://www.transportpolicy.net/standard/china-heavy-duty-emissions/.
WenBo, Xue, Fu Fei, Wang JinNan, Tang GuiQian, Lei Yu, Yang JinTian, and Wang YueSi. “Numerical study on the characteristics of regional transport of PM2.5 in China.” China Environmental Science 34, no. 6 (2014): 1361–68.
WHO. “9 out of 10 People Worldwide Breathe Polluted Air, but More Countries Are Taking Action,” 2018. https://www.who.int/news/item/02-05-2018-9-out-of-10-people-worldwide-breathe-polluted-air-but-more-countries-are-taking-action.
Wong, Edward. “Air Pollution Linked to 1.2 Million Premature Deaths in China (Published 2013).” The New York Times, April 1, 2013, sec. World. https://www.nytimes.com/2013/04/02/world/asia/air-pollution-linked-to-1-2-million-deaths-in-china.html.
World Air Quality Index. “Beijing US Embassy, Beijing Air Pollution: Real-Time Air Quality Index.” aqicn.org, 2021. https://aqicn.org/city/beijing/us-embassy/.
Xiao, Qingyang, Guannan Geng, Fengchao Liang, Xin Wang, Zhuo Lv, Yu Lei, Xiaomeng Huang, Qiang Zhang, Yang Liu, and Kebin He. “Changes in Spatial Patterns of PM2.5 Pollution in China 2000–2018: Impact of Clean Air Policies.” Environment International 141 (August 1, 2020): 105776. https://doi.org/10.1016/j.envint.2020.105776.
Xiaoxia. “China Focus: China to Strengthen Fight against Environmental Pollution in 2020 – Xinhua | English.News.Cn.” Xinhua, January 14, 2020. http://www.xinhuanet.com/english/2020-01/14/c_138704583.htm.
Xie, Jian. “Addressing China’s Water Scarcity : Recommendations for Selected Water Resource Management Issues.” Washington DC: World Bank, 2009.
Xin, Zheng, and Lan Lan. “New Rules to Combat Pollution – Business – Chinadaily.Com.Cn.” China Daily, March 1, 2012. https://www.chinadaily.com.cn/business/2012-03/01/content_16031327.htm.
Yang, Liuhanzi, and Hui He. “China’s Stage VI Emissions Standard for Heavy-Duty Vehicles.” International Council on Clean Transportation, 2018. https://theicct.org/publications/china%E2%80%99s-stage-vi-emissions-standard-heavy-duty-vehicles-final-rule.
Zhang, Qiang, Yixuan Zheng, Dan Tong, Min Shao, Shuxiao Wang, Yuanhang Zhang, Xiangde Xu, et al. “Drivers of Improved PM2.5 Air Quality in China from 2013 to 2017.” Proceedings of the National Academy of Sciences 116, no. 49 (December 3, 2019): 24463–69. https://doi.org/10.1073/pnas.1907956116.