แม้ว่าองค์การสหประชาชาติ หรือ UN จะเข้ามามีบทบาทในการผลักดัน SDGs แต่ UN ไม่ใช่องค์กรที่คิดค้น SDGs ขึ้นมา เพราะกว่าจะเป็น SDGs มีการพูดคุยเรื่องนี้กันตั้งแต่ปี 2012 (ก่อนเกิด SDGs ถึง 3 ปี)โดยในการประชุม Rio+20 ประเทศบราซิลที่ประชุมได้ประเมินผลของ MDG และเห็นว่ายังมีหลายเป้าหมายยังไม่บรรลุ ทั้งยังมีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากรที่ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และอาหารเพิ่มขึ้น และความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่รุนแรงขึ้น
ที่ประชุมจึงมีการเสนอให้เริ่มร่างเป้าหมายการพัฒนาหลังปี 2015 (Post-2015 Agenda) โดยออกแบบกระบวนการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมระดมความเห็นตั้งแต่องค์กรระดับนานาชาติ ไปจนถึงคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมกว่า8.5 ล้านคน เพื่อหาคำตอบมาว่า ‘โลกที่ทุกคนอยากเห็นในปี 2030 ควรเป็นอย่างไร’ แล้วกลั่นกรอง สรุปออกมาเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ที่เรารู้จักกันในนาม SDGs
สำหรับประเทศไทย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ Social Watch เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างการมีส่วนร่วม SDGs จึงเป็นเป้าหมายระดับโลกที่ไม่ได้คิดค้นขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากความเห็นของคนในวงกว้าง เพื่อให้เป้าหมายนี้เป็นภาพอนาคตของทุกคนอย่างแท้จริง
SDG 101 เนื้อหารูปแบบใหม่ที่อยากหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าแบบย่อยง่ายให้คุณรู้จัก SDGs ในมุมที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sdgmove.com/category/sdg-101/
Last Updated on มกราคม 4, 2022