วัณโรคยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงด้านสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ระหว่างการต่อสู้กับโควิด-19 ยังคงมีโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่ยังคงเป็นภัยต่อสุขภาพระดับโลก หนึ่งในโรคเหล่านี้คือวัณโรค ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในปี 2019 มีผู้ป่วยวัณโรคถึง 10 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจำนวน 1.4 ล้านคนเสียชีวิตในปีเดียวกันนั้น

ในปี 2018 องค์การอนามัยโลกระบุว่าเฉพาะจำนวนผู้ป่วยใน 8 ประเทศทั่วโลก คิดเป็น 2 ใน 3 ของผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด โดยมีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูงสุดอยู่ในอินเดีย ตามด้วยจีน รองลงมาคือประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามมาคือปากีสถาน ไนจีเรีย บังกลาเทศ และแอฟริกาใต้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของประชากร 26% ของโลก แต่มีอุบัติการณ์วัณโรค (TB incidence) ถึง 44% มีการคาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคกว่า 4 ล้านคนต่อปี และคร่าชีวิตผู้คนในภูมิภาคไป 650,000 ราย

ด้วยสถานการณ์ตัวเลขที่ยังน่าเป็นห่วง หน่วยงานรัฐจึงเร่งดำเนินการเพื่อหยุดยั้งวัณโรคในภูมิภาคอย่างเร่งด่วนมากขึ้น มีรายงานว่ามีการเพิ่มการลงทุนถึงสองเท่าเพื่อการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างเข้มข้น พัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการวินิจฉัยและการรักษา รวมถึงความพยายามอื่นๆ

นอกจากนั้นยังมีแผนปฏิบัติการใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อสู้กับวัณโรคซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ WHO ประจำปี 2019 ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งจะสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรคในภูมิภาคได้ 12-15% ในแต่ละปี ซึ่งเท่ากับว่าจะมีผู้ป่วยน้อยลงประมาณ 270,000 รายต่อปี

หนึ่งในหลายๆ กลยุทธ์คือการขยายการรักษาไปถึงกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นวัณโรคมากกว่าคนสุขภาพปกติ 19 เท่า และครอบคลุมถึงสมาชิกในบ้านที่อาศัยร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งหมายความว่าทั้งผู้ป่วยวัณโรคและผู้ใกล้ชิดจะได้รับการรักษาและการรักษาเชิงป้องกันวัณโรคตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ระดับภูมิภาคเพื่อยุติวัณโรค ได้แก่ การดำเนินการการฝึกอบรมด้านวัณโรคในประเทศอินโดนีเซีย ร่วมกับสถาบันจากออสเตรเลียในปี 2018 เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของท้องถิ่นในการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคของ WHO ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อวัณโรคสูงสุดเป็นอันดับสามของโลก

ยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลก (WHO End TB Strategy) มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากวัณโรคลง 95% และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง 90% ระหว่างปี 2015 ถึง 2035

วัณโรค เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ในเป้าประสงค์ที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2030

ที่มา: ASEAN Post

Last Updated on มีนาคม 26, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น