การผลิตอาหารอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับที่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของโลกที่มีประชากรกว่า 7.8 พันล้านคนนั้น นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของภาคการเกษตร
เพราะปัญหาความมั่นคงทางอาหารและการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของ ‘trade-offs’ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และวิธีการอย่างสมดุลให้เกิดผลลัพธ์ดีขึ้นทั้งคู่ ทั้งมีอาหารเพียงพอและไม่กระทบพื้นที่ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยเมื่อมองที่ยุทธศาสตร์ของยุโรปเหนือและสหรัฐฯ ยุโรปเหนือให้ความสำคัญกับเกษตรกรรมที่จำกัดพื้นที่เพื่อเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ สหรัฐฯ เน้นที่ผลผลิตจากภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจทำให้มีการใช้พื้นที่ทำการเกษตรมาก อย่างไรก็ดี งานวิจัยของสหรัฐฯ ชี้ว่าหากสหรัฐฯ จะปรับยุทธศาสตร์ที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารในส่วนอื่นของโลก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่ามีการลงทุนในการเกษตรท้องถิ่นและการใช้เทคโนโลยีในประเทศ/ภูมิภาคอื่นด้วย
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหิวโหยและการเกษตรเห็นพ้องกันว่า การที่จะให้มีอาหารที่มีราคาไม่แพง เพียงพอและเข้าถึงได้ และมี ‘ความยั่งยืน’ ไปอีกหลายชั่วรุ่น อย่างไรเสียก็ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากการตลาดและระบบห่วงโซ่การผลิตระดับโลกมีกลไกที่ดีที่จะรักษาราคาอาหารไม่ให้สูงขึ้นหรือขาดแคลนแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของทางแพร่งนี้คือการลงทุนของรัฐบาลให้มี ‘การทำวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร’ เพราะการเกษตรปัจจุบันต้องขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการยกระดับการบริหารจัดการและให้มีผลิตภาพที่ดีขึ้น ตลอดจนให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนของภาคการเกษตรกับการผลิตอาหารด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 มีที่กล่าวถึงการมีอาหารที่เพียงพอ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน ผลิตภาพทางการเกษตรและขีดความสามารถในการผลิตสินค้า
#SDG12 มีที่กล่าวถึงการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
#SDG13 การลงมือจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสและผลกระทบที่เกิดขึ้น
#SDG15 ป่าไม้ ระบบนิเวศบนบกและความหลากหลายทางชีวภาพ
แหล่งอ้างอิง:
https://www.weforum.org/agenda/2021/03/here-is-how-the-united-states-can-balance-food-security-with-sustainability/