ปัจจุบัน มีประชากรในช่วงอายุ Generation Z หรือ คนที่เกิดระหว่างปี 1997-2009 เป็นจำนวนประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะมีคนวัย Gen Z ถึง 27% ของแรงงานทั่วโลกในปี 2025 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ทำให้อัตราการว่างงานเฉพาะของคน Gen Z เมื่อเทียบกับกลุ่มคนทำงานที่อายุมากกว่า คือ กลุ่ม Baby Boomer และ Generation Y เพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบสองเท่าในเกือบทุกประเทศในกลุ่ม OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ Organization for Economic Co-operation and Development: OECD)
แรงงานวัย Gen Z มีบทบาทมากในอุตสาหกรรมบริการ เช่น ร้านอาหารและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้คนหนุ่มสาวราว 25% ที่ทำงานในภาคบริการและการพักผ่อนหย่อนใจในสหรัฐอเมริกาต้องว่างงาน เฉพาะระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2020 อัตราการจ้างงานในภาคธุรกิจนี้ลดลงถึง 41%
สเปน คือ ประเทศในกลุ่ม OECD ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยที่อัตราการว่างงานของแรงงานอายุ 25-74 ปีอยู่ที่ 14% แต่อัตราการว่างงานของ Gen Z นั้นสูงกว่าถึงสองเท่า อยู่ที่สูงกว่า 38%
ปี 2020 เป็นช่วงเวลาที่คนวัย Gen Z เพิ่งเรียนจบระดับวิทยาลัยและมัธยมปลายและกำลังเริ่มหางานทำ ในแง่ของโอกาสในการจ้างงานในอนาคต มีนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าการว่างงานเป็นเวลานานทำให้คน Gen Z พลาดโอกาสในการสั่งสมประสบการณ์ในช่วงเริ่มต้นของวัยทำงาน สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเติบโตด้านอาชีพของพวกเขาต่อไปในอนาคต
การเริ่มต้นการทำงานที่ช้ากว่าสามารถส่งผลกระทบกับตัวเลขรายได้เช่นกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า หากเยาวชนว่างงานเป็นเวลานาน จะทำให้รายได้ตลอดชีวิตลดลง 2% และด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจทำให้แรงงานวัย Gen Z ยอมทำงานที่ให้รายได้ต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ ซึ่งส่งผลให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตลดลงโดยเปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของคนวัย Gen Z คือ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากที่สุดและมีความใส่ใจเรื่องการเงินมากกว่าคนรุ่นอื่น นอกจากนั้นพวกเขายังเป็น Digital Generation ที่อาจบุกเบิกอาชีพและนวัตกรรมใหม่ๆ หรือสร้างรูปแบบใหม่ของการทำงานในยุคของตนเองได้
หมายเหตุ: บทความนี้พิจารณาเฉพาะคนวัย Gen Z ที่อยู่ในช่วงอายุที่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายเท่านั้น นั่นคือ ผู้ที่เกิดในปี 1997-2006 (อายุ 15-24 ปี ในปี 2020) ส่วนที่เหลือ ได้แก่ กลุ่ม Baby Boomer กลุ่ม Gen X และ กลุ่ม Millennials ซึ่งเกิดระหว่างปี 1946–1996
การจ้างงานของคนวัย Gen Z เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ในเป้าประสงค์ 8.6 ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ไม่มีการศึกษา และไม่มีทักษะ
ที่มา: Visual Capitalist
Last Updated on มีนาคม 29, 2021