แม้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย จะมีความหลากหลายในเชิงประเด็น (แถมยังดูละลานตาและจดจำยากสักหน่อยสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษา) แต่แท้จริงแล้ว SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องคำนึงถึงความสมดุลใน 3 มิติ คือเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไม่ให้พัฒนาด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อด้านอื่น ๆ หรือที่เราเรียกกันว่า “สามเสาหลักของความยั่งยืน”
ดังนั้น สำหรับคนอยากเข้าใจ SDGs ในระดับเริ่มต้น เราไม่จำเป็นต้องจดจำ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายในทันทีก็ได้ เพียงแค่เราเข้าใจว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมก็เพียงพอแล้ว!!
แต่เพื่อให้เรามองภาพชัดเจนขึ้นว่า SDGs ทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง สหประชาชาติจึงลองเอา SDGs มาจัดกลุ่มที่มีความใกล้เคียงกันจะแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า 5P ได้แก่
- People คนและสังคม SDGs ที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ #SDG1 ขจัดความยากจน #SDG2 ยุติความหิวโหย #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี #SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม #SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
- Prosperity ความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDGs ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้คือ #SDG7 พลังงานสะอาดและเข้าถึงได้ #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ดี #SDG9 อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม #SDG10ลดความเหลื่อมล้ำ #SDG11เมืองและชุมชนยั่งยืน
- Planet สิ่งแวดล้อม SDGs ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้คือ #SDG6 การเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค #SDG12การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน #SDG13รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ #SDG14นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร #SDG15ระบบนิเวศบนบก
- Peace สันติภาพและความสงบสุข SDGs ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้คือ #SDG16 สันติภาพและสถาบันที่เข้มแข็ง
- Partnership หุ้นส่วนความร่วมมือ SDGs ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้คือ #SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา
SDG 101 เนื้อหารูปแบบใหม่ที่อยากหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าแบบย่อยง่ายให้คุณรู้จัก SDGs ในมุมที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sdgmove.com/category/sdg-101/
Last Updated on มกราคม 4, 2022