เป็นครั้งแรกที่สหภาพยุโรปลงทุนอย่างมหาศาลในภาคสุขภาพและที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างจริงจังกับแผน EU4Health Programme 2021-2027 ที่งบประมาณ 5.1 พันล้านยูโรมากกว่าแผนที่ผ่าน ๆ มา ถึง 10 เท่า โดยการสนับสนุนของพลเมืองยุโรป ในการเตรียมพร้อมรับ จัดการความท้าทายและแนวโน้มความเสี่ยงทางสุขภาพในภูมิภาค ตอบโต้การระบาดของโควิด-19 และวิกฤติสุขภาพระดับโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในห้วง 7 ปีต่อจากนี้
ซึ่งแผน/โปรแกรมดังกล่าวได้ให้ความสำคัญอันดับแรกกับการเตรียมพร้อมจัดการวิกฤติ (crisis preparedness) การป้องกันโรค การเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเสมอภาค การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบสุขภาพ การพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และระบบสุขภาพแห่งชาติและโดยรวมของสหภาพ ให้การสาธารณสุขของภูมิภาคเข้มแข็งขึ้นเป็นเกราะป้องกันของชาวยุโรปทุกคน
โดยในรายละเอียดยังครอบคลุมถึงการจัดการภัยคุกคามด้านสุขภาพข้ามพรมแดนรัฐ (cross-border health threats) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านสุขภาพระหว่างประเทศสมาชิก ให้มียารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ราคาไม่แพงและเข้าถึงได้ ให้มีห่วงโซ่อุปทานและการผลิตที่ยั่งยืน มีการพัฒนาคลังเก็บสินค้า/อุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรคสำรองที่เพียงพอ สนับสนุนการวินิจฉัยตรวจโรคเบื้องต้นรวมถึงโครงข่ายการส่งต่อเคสสุขภาพ การอำนวยการหารือประเด็นสุขภาพที่ซับซ้อน โรคที่หายาก และโรคไม่ติดต่อ ระหว่างกัน ตลอดจนผลักดันการบูรณาการการทำงานระหว่างประเทศสมาชิก เพราะโรคระบาดแสดงให้เห็นชัดว่ายุโรปจำเป็นต้องมี ‘การทำงานอย่างสอดประสาน’ มากขึ้นในช่วงวิกฤติเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง (resilient)
สำหรับในระดับภูมิภาคนั้น ประเทศสมาชิกต้องเตรียมรับมือจัดการกับความท้าทายระยะยาวอย่างสังคมสูงวัยและความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพระหว่างประเทศสมาชิกเองและระหว่างภูมิภาค นอกจากนี้ โรคไม่ติดต่อและโรคที่เกี่ยวข้องหรือเกิดมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวยุโรปเองเป็นความท้าทายอันดับต้นที่จำเป็นต้องเร่งลด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงเกือบ 25% ภายในปี 2035 และเป็นสาเหตุหลักของการตายของชาวยุโรป
และสำหรับในระดับโลก สหภาพยุโรปพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มและประเด็นสุขภาพระดับโลก รวมถึงเร่งเพิ่มศักยภาพของภูมิภาคในการป้องกันภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลกด้วย
นอกจากนี้ แผน/โปรแกรมดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนนโยบายการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป ตลอดจนแผนการวิจัยและพัฒนา Horizon Europe ที่มีคลัสเตอร์การวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ โดยจัดสรรเงินทุนในหัวข้อ อาทิ สุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต ปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โรคไม่ติดต่อและโรคที่หายาก โรคติดต่อ เครื่องมือ เทคโนโลยี และการใช้ดิจิทัลหาทางออกด้านสุขภาพและระบบสุขภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย มีที่กล่าวถึงการป้องกันและรักษาโรค โรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ การแจ้งเตือนล่วงหน้าด้านสุขภาพและจัดการความเสี่ยง หลักประกันสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ยา วัคซีน รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัย
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรม มีที่กล่าวถึงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีงบประมาณสนับสนุน
#SDG10 ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งอ้างอิง: https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/qanda_21_1345
Last Updated on มีนาคม 30, 2021