ทำอย่างไรให้ท่าเรือขนส่งสินค้า มีความยั่งยืนมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

การขนส่งทางทะเลมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะผลักดันการค้าทั่วโลกถึง 90% แต่การจัดการท่าเรือนั้นก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องมลพิษทางน้ำและอากาศในพื้นที่ การปล่อบก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางเสียง การจราจรที่ติดขัด และการปนเปื้อนของตะกอนชายฝั่งเป็นวงกว้าง

การขนส่งทางทะเลปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3% ของการปล่อยก๊าซฯ ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 17% ภายในปี 2050 หากไม่มีการตรวจสอบและแก้ไข ดังนั้น การลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงมีความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมนี้มากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

กิจกรรมทางท่าเรือ เช่น การเทียบท่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การรั่วไหลของน้ำมัน มลพิษทางเสียงและอากาศในพื้นที่ นอกจากนั้น การขนส่งสินค้าจากตู้ตอนเทนเนอร์ไปยังปลายทางด้วยรถบรรทุก รถไฟ หรือเรือขนาดเล็ก ต่างก็เป็นพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอนุภาคอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม

ท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือจะได้รับผลกระทบอย่างไม่ได้สัดส่วนจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและสภาพอากาศสุดขั้ว รวมถึงผลกระทบอื่นๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศ ดังนั้น การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการต่างจึงมีความสำคัญ ตัวอย่าง คือ การจัดให้มี ..

พลังงานฝั่ง (Shore power) สามารถทำให้เรือที่มาเทียบท่าสลับมาใช้พลังงานไฟฟ้าที่จัดไว้ให้แทนน้ำมันดีเซลในเรือ และมีสถานีจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquified Natural Gas: LNG) เพื่อให้เรือเติมก๊าซเมื่อมาเทียบที่ท่าเทียบเรือ จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศบริเวณท่าเรือได้

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมเดินเรือสามารถเข้าร่วมโครงการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมได้โดยสมัครใจ เช่น โครงการ Green Marine สำหรับอุตสาหกรรมเดินเรือในอเมริกาเหนือ ซึ่งจะวัดผลประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ การลดมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก

ท่าเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ท่าเรือที่มีความยั่งยืน ต่างกันอย่างไร

ท่าเรือที่มีความยั่งยืน หมายถึง ท่าเรือที่มีกลยุทธ์และมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งผู้ใช้ท่าเรือในปัจจุบันและในอนาคต ในขณะเดียวกันก็รักษาทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในส่วนของท่าเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีการพัฒนาเชิงรุก มีการดำเนินการและการตรวจสอบเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่าเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมุ่งเน้นเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ท่าเรือที่มีความยั่งยืนจะพิจารณาประเด็นทางสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมด้วย

ท่าเรือขนส่งสินค้าทางทะเลที่มีความยั่งยืน เชื่อมโยงกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น, เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน และ เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้ สำหรับทุกคน

ที่มา: The Conversation

Last Updated on มีนาคม 30, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น