Site icon SDG Move

‘บัตรกำนัลอาหาร’ ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีสุขภาพดีขึ้นได้ เพราะมีกำลังซื้อผักและผลไม้

ความมั่นคงหรือไม่มั่นคงทางอาหารมีผลกระทบต่อสุขภาพที่ดีหรือแย่ มันจึงเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านสังคม (social determinants of health) ที่สำคัญ ซึ่งข้อมูลจากโครงการ ‘Map the Meal Gap’ ภายใต้ National Center for Health Statistics and Feeding America ของสหรัฐฯ  ได้ชี้ว่า ประเทศที่มีระดับความไม่มั่นคงทางอาหารในช่วง 6 ปีมีอัตราการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้นจาก 82 เป็น 87 คนต่อ 100,000 คน ขณะที่ประเทศที่เคยมีความไม่มั่นคงทางอาหารแต่สถานการณ์ดีขึ้นในช่วง 6 ปีกลับมีอัตราการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดคงที่ที่ 60 คนต่อ 100,000 คน

เฉกเช่นเดียวกัน การศึกษา ‘การเปรียบเทียบการบริโภคผักและผลไม้ของชาวอเมริกันในเมืองที่มีรายได้ต่ำที่ได้รับบัตรกำนัลอาหารใน 2 เมือง’ (Comparison of Fruit and Vegetable Intake Among Urban Low-Income US Adults Receiving a Produce Voucher in 2 Cities) ที่เผยแพร่ใน JAMA Network Open ก็ได้ชี้ว่า บัตรกำนัลอาหาร (food voucher) เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านสังคม เพราะช่วยให้คนที่มีรายได้น้อยหันมาบริโภคอาหารที่มีโภชนาการอย่างผักและผลไม้มากขึ้น

โดยทำการศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันในซานฟรานซิสโกและลอสแอนเจลิส 671 คนที่ได้รับบัตรกำนัลอาหารรายเดือน $20/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งผลพบว่าในภาพรวมมีการบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น โดยลอสแอนเจลิสมีการบริโภคมากกว่าซานฟรานซิสโก และคาดว่าความแตกต่างนี้ น่าจะมาจาก ‘รายได้ต่อเดือน’ ซึ่งชาวลอสแอนเจลิสมีรายได้น้อยกว่าซานฟรานซิสโก ที่ $916.67 กับ $1,000

แน่นอนว่ารายได้มีผลต่อการเลือกซื้ออาหาร การศึกษาเดิมระบุว่าคนที่มีรายได้มากกว่าจะซื้อผักและผลไม้ที่ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคประจำวันของตัวเองตามที่สามารถซื้อได้ตามความต้องการปกติ เพราะฉะนั้นแม้จะได้รับบัตรกำนัลอาหารก็ไม่ได้ทำให้เกิดความจำเป็นหรือจะเลือกซื้อผักและผลไม้มากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ถ้าเทียบกับคนที่มีรายได้น้อย คนกลุ่มนี้จะใช้บัตรกำนัลไปกับการซื้อผักและผลไม้มากกว่า เพราะรายได้ตามปกติของตนอาจจำเป็นต้องใช้ซื้ออาหารประเภทอื่น

นั่นเท่ากับว่าบัตรกำนัลอาหารเป็นส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็ก ๆ ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อย่างน้อยก็ให้สามารถซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพได้

ดังนั้นแล้ว หากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสุขภาพต้องการส่งเสริมการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี โครงการจัดสรรบัตรกำนัลอาหารเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง และควรเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะการช่วยสนับสนุนให้ ‘มีกำลังซื้อ’ ที่มากขึ้น ย่อมจะส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกสรรอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 อาหารที่มีโภชนาการ ความมั่นคงทางอาหาร
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน

อ่านข่าวเกี่ยวกับปัจจัยกำหนดสุขภาพด้านสังคมที่เกี่ยวข้อง:
การศึกษาด้านโภชนาการ การอุดหนุนราคาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการเพิ่มภาษีอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สามวิธีป้องกันโรคและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา

แหล่งอ้างอิง: https://patientengagementhit.com/news/food-vouchers-address-food-security-social-determinants-of-health

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version