บันทึกการสัมภาษณ์ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว
ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการและงานสร้างสรรค์ในมหาวิทยาลัย เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสื่อเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีคณาจารย์ที่คัดค้านการไม่ให้ประกันตัวผู้ชุมนุมทางการเมือง และกรณีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากนั้นไม่นานประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพดังกล่าวถูกกล่าวถึงโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในลักษณะที่ทำให้สังคมตั้งคำถามตามมามากมาย หนึ่งในคำถามที่สำคัญคือ เสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในบริบทของโลกผันผวนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ตั้งธงว่าจะต้องบรรลุภายในปี ค.ศ. 2030
ในบทสัมภาษณ์นี้ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้ามค่ายไปสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งภาคีการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ในประเทศไทยในนาม Sustainable Development Solutions Network (SDSN) Thailand ภายใต้ธีมหลักที่เกี่ยวข้องกับ เสรีภาพทางวิชาการ บทบาทมหาวิทยาลัย และการรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เสรีภาพทางวิชาการจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร
นับแต่โลกที่เราเผชิญความเสี่ยงโดยเฉพาะผลจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด 19) ทำให้เกิดสภาวะความไม่แน่นอน ทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจจะไม่เหมือนเดิม HyperGlobalize ชะลอตัวลงทำให้เราต้องหันมาจัดกระบวนกันใหม่ เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการพัฒนา เมื่อเกิดความไม่แน่นอนสังคมยิ่งต้องการพื้นที่ในการพูดคุยที่ให้ความมั่นใจว่าเรามีพื้นที่ร่มเย็น ปลอดภัยร่วมกัน มิฉะนั้นแล้วพื้นที่ในอำนาจของสังคมที่เหลื่อมล้ำซึ่งเราต่างยอมรับว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงนั้นจะทำให้เกิดความเกรงกลัว
เราตระหนักร่วมกันอยู่แล้วว่าการใช้เสรีภาพนั้นต้องเป็นไปด้วยความตระหนัก แต่ข้อจำกัดนั้นไม่ควรมาจากการบัญชาของผู้บังคับบัญชาหรือมาจากอำนาจการรวมศูนย์ที่ไม่การันตีความมั่นคงให้กับการร่วมคิดร่วมคิดร่วมตัดสินใจในประเด็นที่สังคมมีความเสี่ยงร่วมกัน สังคมไทยและโลกกำลังเผชิญกับสภาวะความเสี่ยงในระดับใหญ่และต่างไปจากเดิม ทั้งยังเป็นความเสี่ยงที่ทุกคนในสังคมต้องเผชิญร่วมกัน เราจึงไม่สามารถมั่นใจในหลักการที่ให้ยกอำนาจตัดสินใจนี้ให้ผู้ใดผู้หนึ่งโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น การแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพทาง ความคิดเห็นบนพื้นฐานว่าทุกคนต่างต้องแบกความรับผิดชอบร่วมกันย่อมสามารถกระทำได้ และไม่มีใครมีความรับผิดชอบในภาระอันนี้มากไปกว่าใคร
ความเห็นต่อกรณีที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงขอบเขตของการใช้เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นและทำงานสร้างสรรค์เพื่อสะท้อนประเด็นทางการเมือง
ในยุคสมัยหนึ่งมหาวิทยาลัยคือ พื้นที่ของการศึกษาค้นคว้า เป็นแหล่งบ่มเพาะสติปัญญา แต่เมื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์ เข้ามามีอิทธิพลมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวบทบาทของตนเองให้เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างคน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยกลายเป็นกลไกสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้บทบาทที่เป็นแก่นสารคือการเป็นแหล่งเรียนรู้ ถูกบทบาทเสริมคือการสร้างคนให้ตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจกลบไป ทำให้การสร้างคุณรุ่นใหม่เป็นการทำตาม ‘พิมพ์เขียว’ ที่วางเอาไว้ ซึ่งการทำตามนั้นก็ดี แต่พิมพ์เขียวหรือแผนการนั้นต่างมีข้อจำกัดของมัน
โควิด-19 น่าจะเตือนทุกคนรู้แล้วว่าพิมพ์เขียวเหล่านี้เป็นประโยชน์ในขอบเขตหนึ่งแน่นอน แต่ก็มีข้อจำกัดดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องยึดถึงขนาดต้องเอาเป็นเอาตายกับแผนที่เรามี พิมพ์เขียวของไทยในวันนี้คือ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ มันก็เป็นเอกสารที่มีความสำคัญในตัวของมันเอง แต่เราทำให้เอกสารนี้มีอิทธิพลมาเกินไปกถึงขนาดบังคับ กำหนดงบประมาณ การวัดผล ทั้งที่เราก็รู้กันดีว่าในคราวที่มีการระบาดของโควิด 19 ยุทธศาสตร์ชาตินั้นสามารถช่วยเราได้มากน้อยเพียงใด และแม้จะมีการปรับยุทธศาสตร์ชาติภายหลังการระบาดก็ใช่ว่าจะเป็นการปรับแผนที่คำนึงถึงความหลากหลายในการปรับตัว
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาบทบาทของมหาวิทยาลัยถูกคาดหวังในสองแนวทาง คือคาดหวังทำให้ต้องผลิตคนให้ตรงกับแนวทางของพิมพ์เขียว อันเป็นสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นและอยากสร้างอนาคตตามภาพนี้ กับ ถูกคาดหวังจากสังคมอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นเช่นใด ต้องปรับตัวกันอีกมากน้อยแค่ไหน หลายส่วนไม่ได้เชื่อว่าการทำตามพิมพ์เขียวจะได้ความรู้ที่รองรับกับเศรษฐกิจ สังคมในบริบทของประเทศเราเสียด้วยซ้ำไป แต่ก็ต้องรีบทำเพราะรู้สึกว่ามันต้องทำ
ผมคิดว่าเราติดกับอยู่ตรงข้อจำกัดเหล่านั้น แต่เราทำเป็นเหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นกรอบแนวทางที่มหาวิทยาลัยต้องทำตาม มหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นส่วนงานในสายการบริหารของประเทศ พูดแบบภาษาวิชาการ เรียกว่า มหาวิทยาลัยเป็นเพียงระบบย่อยในระบบราชการบริหารแผ่นดินเท่านั้น
มหาวิทยาลัยเป็นได้แค่นั้นมันจะดีกับสังคมจริงหรือ?
ผมรู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์นี้ และตอนนี้นิสิตนักศึกษาต่างตื่นตัว ดังนั้นเสรีภาพกับความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยในบริบทของสถานการณ์ทั้งหมด เราจำเป็นต้องมีวุฒิภาวะและหลักการที่หนักแน่นมากที่จะคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับสังคมมากไปกว่าการเป็นเพียงหน่วยหนึ่งในสายการบริหาร เรามิใช่บริษัท วิสาหกิจ เหนือไปกว่านั้นเราเป็นที่สร้างคนให้มีทักษะสำหรับอนาคตอันไม่แน่นอน และต้องสร้างคนที่ใช้ความรู้อย่างรับผิดชอบได้ด้วย ดังนั้น ในการพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ เราลืมไปไม่ได้เลยว่า การมีเสรีภาพทางวิชาการเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เรา (มหาวิทยาลัย) ได้รับผิดชอบต่อบทบาทดังกล่าว
ดังนั้นในเรื่องการวิจารณ์การใช้เสรีภาพนั้น หากคนวิจารณ์เป็นคนทั่วไปก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่รัฐมนตรีวิจารณ์เช่นนี้นั้นน่าผิดหวัง และรู้สึกวังเวงในใจ มันสะท้อนว่าช่องทางการรับรู้ต่อการกำหนดทิศทางของการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นกว้างขวางมากและไม่ได้ดีต่อส่วนร่วมเลย
ท่ามกลางการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ คนที่รับผิดชอบทิศทางนโยบายเหล่านี้ยิ่งควรเปิดกว้างรับฟัง มีหัวใจ ความรู้สึกที่ช่วยให้หลักมั่นคงต่อการแลกเปลี่ยนเรื่องสำคัญเหล่านี้ ช่วยทำให้การเมืองวิจารณ์ได้ มหาวิทยาลัยให้แต่การควบคุม แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการใช้สติปัญญาที่เรามี ทั้งที่เรามีกลไกมากมาย
บทบาทที่ควรจะเป็นของมหาวิทยาลัยในบริบทปัจจุบัน เพื่อการรับมือกับความเสี่ยงและการขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
แม้จะมหาวิทยาลัยจะใช้งบประมาณของรัฐ แต่งานของมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นงานในเชิงราชการล้วน ๆ นั่นคือเหตุผลที่เราพยายามจะออกจากระบบราชการ เพราะเราไม่อยากให้มหาวิทยาลัยถูกควบคุม หรือต้องทำตามระเบียบจนเสียสมรรถนะที่จะพัฒนาคนที่มีศักยภาพ เพราะต้องยอมรับว่าคนที่เก่ง หรือเป็นความคาดหวังของสังคมจำนวนไม่น้อยนั้นมุ่งสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นสิ่งที่แฝงอยู่ในความคาดหวังของมหาวิทยาลัยคือความคาดหวังต่ออนาคตของคนเหล่านี้
เราทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเพียงหน่วยหนึ่งของราชการ ไม่ส่งเสริมระบบการส่งเสริมการใช้เสรีภาพและสร้างการมีส่วนร่วมในการแบกรับโจทย์ของอนาคตร่วมกันอย่างจริงจัง การที่รัฐมนตรีกล่าวเช่นนั้นทำให้มหาวิทยาลัยคำนึงถึงการถูกควบคุมเป็นที่ตั้ง ทั้งที่เป็นบทบาทในลำดับรองเมื่อเทียบกับการสร้างคน สร้างศักยภาพที่จะรับมือต่ออนาคต เช่นนี้ใครจะรับผิดชอบต่ออนาคตได้
โจทย์หลายโจทย์ไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่าประเด็นใดแตะต้องได้ไม่ได้ เราจะไปกำหนดว่าสิ่งใดตั้งคำถาม ได้สิ่งใดห้ามถามนั้นมันไม่ใช่
ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ เคยมีข้อห้ามไม่ให้หญิงมุสลิมเรียนหนังสือด้วยเหตุผลทางศาสนา เมื่อมีการตั้งคำถามก็ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นจนเกิดการลุกลามนำมาสู่การเข่นฆ่า แต่เมื่อมีการคำตอบอย่างมีเหตุผลสุดท้ายก็ยังได้รับข้อยุติว่าสามารถกระทำได้ในเวลาต่อมา เราจึงได้เรียนรู้ว่าสถาบันหลักของสังคมก็ยังต้องถูกการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบภายในร่วมกันว่าต้องปฏิรูปร่วมกันภายในหรือไม่ ดังนั้น ไม่ว่าศาสนา หรือประมุขแห่งรัฐอันเป็นสถาบันที่ช่วยทำหน้าที่เป็นตัวแทน เป็นสิ่งที่ทำให้คนมีความรู้สึกร่วมกัน ยอมรับนับถือว่าเป็นคนรัฐเดียวกันย่อมต้องมีการทบทวนมิใช่น้อยโดยเฉพาะในภาวะที่นิยามพรมแดน ประโยชน์ของรัฐ ประโยชน์ของชาติในโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก การกล่าวว่า การตั้งคำถามเช่นนี้เป็นการล้ำเส้นจากบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ ย่อมเป็นที่น่าสังเกตว่าท่านมีความตั้งใจจะสื่อสารอะไร
โลกปัจจุบันเผชิญสภาวะความแปรปรวนในทุกมิติจากทั้งในเชิงกายภาพ สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ปัญหาความท้าทายที่มีความหลากหลายและทวีความรุนแรงนั้นรอให้มหาวิทยาลัยต้องทบทวนตัวเองว่าตลอดหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา สังคมเรามีการปรับตัวอย่างไรส่วนใดเป็นจุดแข็งควรส่งเสริม ส่วนใดไม่ควรทำให้เกิดขึ้นอีก
การที่ระบบของสังคมให้ความสำคัญกับราชการมากเกินไปจนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทบทวนบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในประวัติศาสตร์การพัฒนานั้นเป็นปัญหาอยู่แล้ว ครั้นหันมาพิจารณาบทบาทของมหาวิทยาลัยในการเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนเพื่อปรับเปลี่ยนตนเอง การทำงานกับสังคมให้คนรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยและสังคมเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ซึ่งบางพื้นที่ก็ทำได้ดีในเรื่องป่า ชุมชน แม่น้ำ เหล่านี้จึงสะท้อนว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ต้องส่งเสริมเรื่องเสรีภาพ และการถกเถียงกันโดยความรับผิดชอบต่อสาธารณะมิใช่เพียงเพราะระเบียบกำหนด ภาครัฐใช่ว่าไม่สำคัญแต่ภาครัฐเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการกำหนดระบบเหล่านี้ อนาคตหลายส่วนยังอยู่กับภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมไปถึงสถาบันที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในสังคมทั้งสถาบันตุลาการ ตำรวจ ทุกภาคส่วนล้วนต้องการการทบทวน
สำหรับมหาวิทยาลัยก็จำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนเรื่องเสรีภาพทางวิชาการที่ไม่ใช่เฉพาะประเด็นร้อนทางสังคมในตอนนี้เท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องได้รับการทบทวนอาทิ บทบาท จริยธรรมในงานวิจัย การใช้งานวิจัยเพื่อแสวงผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อันควรแก่การถกเถียงกันในสภาวะเช่นนี้ เรากลับไม่ถกกันในเชิงหลักการให้สิ่งเหล่านี้มีความหมายขึ้นมา เรากลับมาถกเถียงเรื่องการควบคุม การห้ามปรามอันทำให้พื้นที่พูดคุยสูญเปล่า การตั้งโจทย์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อทิศทางให้สามารถสร้างวุฒิภาวะร่วมกัน เราน่าจะมีโอกาสสนทนา
เรื่องเหล่านี้ให้เห็นโอกาสของการปรับตัว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งปรับตัวไปไกลแล้ว เริ่มลงไปทำงานกับ คนชายขอบให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเอามุมมองการเมืองที่คับแคบมาตีกรอบไม่เป็นผลดีต่อการสร้างพื้นที่ร่วมกันเรียนรู้ สุดท้ายมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดมาแล้วเสียหมด
โดยส่วนตัว เชื่อว่ารัฐมนตรีก็มิได้มุ่งหมายจะให้เป็นเช่นนั้น แต่ต้องแสดงออกและยอมรับว่ามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบในพื้นที่เพื่อจะทำหน้าที่ที่ใคร ๆ ก็คาดหวัง ว่าจะทำได้อย่างดี ซึ่งมิใช่หน้าที่ตามคำสั่ง หรือถูกหนดไว้ตายตัว หากแต่เป็นภารกิจสร้างความรู้เตรียมพร้อมรับความไม่แน่นอน มีพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนกัน เราเรียกร้องภาวะผู้นำที่จะนำไปสู่การทำนโยบายที่สร้างสรรค์กว่านี้ แน่นอนว่าภาวะผู้นำนั้นไม่อาจเกิดได้จากภาวะคำสั่งจากบนลงล่าง (Top down) แต่เราต้องการภาวะผู้นำที่สามารถสร้างความร่วมมือจากหลายฝ่าย ข่าวสั้น ๆ ที่ออกมานั้นมิใช่สัญญาณที่ดีหรือสิ่งที่อยากเห็น
ท่ามกลางโลกที่เป็นเช่นนี้ความไขว้เขวในหลักการย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ทุกฝ่ายต้องหันมาปรับตัวในทศวรรษที่เหลืออยู่ ในแง่นี้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก หากเรามัวถอยหลังกลับไปมุ่งเพียงแค่การควบคุมการใช้เสรีภาพ รังแต่จะเป็นการลดเพดานการตั้งโจทย์ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสติปัญญาร่วมกัน ให้เหลือแต่โจทย์ที่ถูกควบคุม จัดระเบียบ
โดยส่วนตัวผมไม่แฮปปี้กับคำพูดที่ว่า มหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้คำตอบ มหาวิทยาลัยต้องยอมถ่อมตัวลงพอสมควรในโลกซึ่งมีผู้ที่เรียนรู้ และมีบทบาทนำอนาคตได้กว้างขวางกว่าคนที่เรียนหนังสือเก่งอย่างเดียว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงประเด็นนี้ แต่เดิมสังคมให้ความสำคัญกับการเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่ง แน่นอนว่ายังควรส่งเสริมให้คนมีศักยภาพได้ทำงานความสำคัญ ทว่าปัจจุบันการเรียนหนังสือเก่งเพียงอย่างเดียวมิใช่คำตอบแต่ต้องผลิตคนที่พร้อมจะร่วมทุกข์กับคนที่อยู่ในสังคมเหลื่อมล้ำ มหาวิทยาลัยต้องสร้างคนที่ร่วมมองปัญหาในสังคม เศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำและมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะการมีหัวใจที่ร่วมทุกข์กับสังคมได้ช่วยให้การวางตนไม่อยู่สูงกว่าสังคมจนเกินไป ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเองจะได้ทบทวน วางสมดุลบทบาทของตนเอง เพราะหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยติดกับดักการจัดอันดับ ตัวชี้วัด ระเบียบหลายประการมากเกินไปจนไม่อาจพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในมุมมองที่แตกต่างออกไปได้
หากวันนี้โลกยังมิได้กำหนดวาระการพัฒนา 2030 ขึ้นจนส่งผลให้กลไกหลายอย่างของรัฐต้องหันมาทบทวนตัวเองตามพันธะสัญญาดังกล่าว สัญญาณของความพยายามทบทวนหรือปรับเปลี่ยนในทิศทางใหม่คงเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากระบบการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ หนทางที่จะทำให้การรวมศูนย์ไม่ลุกลามกลายเป็นโรคร้าย จำเป็นต้องเอื้อให้การทบทวนให้บทบาทเชิงควบคุม กำกับดูแลลดลงและเพิ่มบทบาทเชิงการส่งเสริมขึ้นมา
เราน่าจะสามารถกำกับดูแลแบบที่เราสามรถทบทวนตนเองได้ หรือ Reflexive governance เราไม่ได้กล่าวว่าเสรีภาพต้องเปิดกว้างจนไร้ขีดจำกัด จนไปถกเถียงในเรื่องที่ไม่มีพื้นฐานของความห่วงใยสังคม เราจะเถียงในเรื่องที่ว่ามิใช่ใครจะมากำหนดว่าเสรีภาพควรเป็นเช่นใด แต่เราจะถกกันบนพื้นฐานของความรับผิดชอบว่า วันนี้เราเจอโจทย์ที่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจ ทุ่มเทหาทางออกร่วมกัน
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ชล บุนนาค
ถอดบทสัมภาษณ์และสรุปประเด็นโดย พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ