น้ำที่ปนเปื้อนสารหนู (arsenic contamination) กำลังทำให้น้ำในอินเดียเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชากรหลักล้าน เพราะการปนเปื้อนได้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการบริโภค และที่น่ากังวลคือยังคงมีประชาชนที่ไม่ทราบว่าน้ำที่ตนใช้ดื่มกินถูกสุขอนามัยและดีต่อสุขภาพหรือไม่
ปัญหาน้ำที่ไม่ถูกสุขอนามัยมาจากทั้งสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในแหล่งน้ำแล้วไม่ได้รับบำบัด รวมถึงมีน้ำทิ้งที่ประมาณ 50-80% ซึ่งไหลลงสู่ลำธาร แม่น้ำ และน้ำบาดาล ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมของอินเดียเผยว่าน้ำที่ไหลมาจาก 17 แม่น้ำในรัฐคาร์นาตากาเต็มไปด้วยน้ำทิ้งจากโรงงานและไม่เหมาะสมสำหรับการบริโภค แม่น้ำคงคาซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลมากที่สุดในโลกก็พบว่ามีสิ่งปฏิกูลจากน้ำทิ้งทั่วไปและจากโรงงานรวมราว 3 ล้านลิตรต่อวัน โดยในภาพรวมของอินเดียในทุก ๆ ปีจะมีน้ำเสียและน้ำทิ้งจากโรงงานกว่า 9 ล้านลิตร โดยมีเพียง 4.75 ล้านลิตรที่ได้รับการบำบัด
ซึ่งแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารหนูมากที่สุดคือแม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำเมฆนา และในรัฐอื่นอย่างรัฐอุตตรประเทศ รัฐพิหาร รัฐฌาร์ขันท์ รัฐเบงกอลตะวันตก และรัฐอัสสัม ตามข้อมูลของ National Rural Drinking Water Programme (NRDWP) ประชากรประมาณ 9.6 ล้านคนในรัฐเบงกอลตะวันตก ประมาณ 1.6 ล้านคนในรัฐอัสสัม 1.2 ล้านคนในรัฐพิหาร 5 แสนคนในรัฐอุตตรประเทศ และราว 13,000 คนในรัฐฌาร์ขันท์ กำลังเผชิญความเสี่ยงกับการปนเปื้อนสารหนูในน้ำบาดาล
ขณะที่รัฐบาลอินเดียประกาศความมุ่งมั่นที่จะให้มีน้ำสะอาดใช้สำหรับครัวเรือนชนบทภายในปี 2567 (2024) รวมถึงอาจมีการพิจารณากฎหมายที่ครอบคลุมรอบด้านเกี่ยวกับมลพิษและสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ตามความเห็นของผู้เขียนใน Time to Combat Water Contamination in India เผยแพร่ในETHealthworld.com มองว่าทุกคน บริษัท และการปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถช่วยกันชี้แหล่งที่มาของการปนเปื้อนได้ และให้อินเดียพิจารณาเทคโนโลยีการทำให้น้ำสะอาด (Purification technology) โดยเฉพาะการทำให้น้ำมีความเป็นด่าง (alkaline water) ลดความกรด และเพิ่มค่าความเป็นกลางของน้ำมากขึ้น
ทั้งนี้ เพราะว่าน้ำที่มีค่าความเป็นด่างเต็มไปด้วยแร่ธาตุ อาทิ แคลเซียม โปแทสเซียม แมกนีเซียม และสังกะสี ที่มีความสำคัญต่อระบบเผาผลาญและมีประโยชน์หลายประการต่อร่างกาย ทั้งช่วยการขับถ่าย ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวและร่างกายไม่ขาดน้ำ รวมถึงการขับ/ดีท๊อกซ์ของเสีย และอื่น ๆ ในแง่นี้ รัฐบาลควรออกมาตรการสร้างแรงจูงใจ ให้เครื่องกรองน้ำหรือกระบวนการทำน้ำสะอาดมีราคาถูกลง เพื่อที่ประชาชนจะได้เข้าถึงน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัด-ทำให้สะอาด-มีความเป็นด่างที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นนั่นเอง
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDGs
#SDG3 หลักประกันว่าด้วยการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน
#SDG6 น้ำสะอาด สุขอนามัย และสุขาภิบาล ซึ่งครอบคลุมน้ำดื่มที่ปลอดภัย มีราคาที่สามารถซื้อได้ คุณภาพน้ำ-การลดการปล่อยของเสีย-การบำบัดน้ำ
แหล่งที่มา:
https://health.economictimes.indiatimes.com/news/industry/time-to-combat-water-contamination-in-india/81775584
Last Updated on เมษายน 5, 2021