หลายการศึกษาพบว่ารายได้สูงขึ้นสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีกว่า งานที่จ่ายเงินดีทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงโภชนาการที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และยังหมายถึงการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้เพียงพอ ในขณะที่ รายได้ที่น้อยเกินไป เพิ่มความอ่อนไหวต่อความเครียดทางจิตใจของบุคคล ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย อาการเจ็บป่วย และเกิดโรคร้าย
งานที่ได้รายได้ดียังแปลว่า เราจะมีชีวิตยืนยาวขึ้น ตัวอย่างคือ นักวิจัยในปี 2016 พบว่า ‘ผู้ชายที่รวยที่สุด 1%’ ของสหรัฐอเมริกามีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่า ‘ผู้ชายที่จนที่สุด 1%’ ถึง 14.6 ปี
มีการศึกษาหลายงานที่แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานเชื่อมโยงกับ ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง เป้าหมายในชีวิต และอัตลักษณ์ของตนเอง งานมีส่วนสำคัญในการสร้างตัวตนของบุคคลเพราะทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สถานะทางสังคม และมีกิจกรรมที่สร้างผลผลิตให้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การสูญเสียงานจึงเป็นผลร้ายต่อตัวตน จึงเป็นเหตุผลว่าการว่างงานทำให้สุขภาพจิตแย่ลง ตัวอย่างคือ คนอเมริกันที่ไม่มีงานทำ มีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนอเมริกันที่มีงานและรายได้
การศึกษาหนึ่งยังพบอีกว่า คนที่ความพิการที่มีงานทำมีแนวโน้มที่จะมีความเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น ภาวะวิตกกังวล และซึมเศร้า น้อยกว่าผู้พิการที่ไม่มีงานทำ (18% ต่อ 40%) การค้นพบนี้ยังคงสอดคล้องกันแม้ว่าจะพิจารณาเฉพาะประชากรเฉพาะกลุ่มและมีลักษณะเฉพาะบุคคล
สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาอาจพลาดโอกาสที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในพัฒนาสุขภาพ เมื่อวุฒิสภาปฏิเสธร่างกฎหมายที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีไบเดน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลในปัจจุบันและสวัสดิการเงินว่างงาน กลายเป็นว่าชาวอเมริกันหลายล้านคนที่มีงานทำในอัตราค่าแรงขั้นต่ำนี้จะได้รายได้น้อยกว่ารับเงินสวัสดิการว่างงาน
การทำให้เงินสวัสดิการว่างงานสร้างรายได้สูงกว่าการมีงานทำทำให้ประชาชนขาดแรงกระตุ้นที่จะหางานทำ และเพิ่มโอกาสยกระดับรายได้ครัวเรือนให้สูงขึ้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้นไม่เพียงให้ประโยชน์แค่ตัวเงิน ยังหมายถึงการมีความสุขมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น และชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
ค่าแรงขั้นต่ำและความสัมพันธ์กับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น การเข้าถึงบริการสาธารณสุขและป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน (3.8) - SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น การบรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน (8.5) - SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ ในประเด็น การเติบโตของรายได้ในกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่ยากจนที่สุด (10.1)
ที่มา: The Conversation