แม้ SDGs จะให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มตามหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) แต่เพื่อให้ผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงได้ เราจำต้องรู้ว่าเรากำลังทำงานกับใคร หรือควรนึกถึงใครบ้าง เพราะมิฉะนั้นแล้วหากเราบอกว่าทุกคนสำคัญและ ไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายหรือวางแผนไว้เลย
เราจะไม่ทราบคนที่ได้รับผลกระทบ หรือมองเห็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นที่เราทำ ท้ายที่สุดจะกลายเป็นว่า “เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับใครเลย”
ดังนั้น เพื่อให้การโฟกัสและคำนึงถึงคนทุกกลุ่มเกิดได้ง่ายขึ้นสหประชาชาติ (UN) ได้เสนอกลุ่มคนที่เราควรนึกถึงเมื่อทำงาน SDGs เรียกว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder)” แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่
(1) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม (2) เจ้าหน้าที่ชุมชน/ท้องถิ่น
(3) ภาคประชาสังคม/ NGOs (4) ภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(5) เด็กและเยาวชน (6) เกษตรกร
(7) ชนพื้นเมือง (8) ผู้หญิง
(9) คนงาน/สหภาพแรงงาน
ซึ่งหากเราจัดกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะสามรถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- กลุ่มคนที่มีอิทธิพลหรือช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อทำงานกับคนกลุ่มนี้เราจะดูว่า “พวกเขาสามรถช่วยอะไรได้บ้าง” คนกลุ่มนี้ได้แก่ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ชุมชน/ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม/ NGOs ภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ที่มักได้รับผลกระทบ หรือต้องให้คำนึงถึงมีตัดสินใจพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เมื่อทำงานกับคนกลุ่มนี้เรามักจะต้องตั้งคำถามว่า “เราสามารถช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง” คนกลุ่มนี้ได้แก่ เด็กและเยาวชน เกษตรกร ชนพื้นเมือง ผู้หญิง คนงาน/สหภาพแรงงาน
การกำหนดเช่นนี้เป็นเพียงกรอบเพื่อให้เรามองเห็นกลุ่มคนหลัก ๆ ที่เราต้องมุ่งทำงานเท่านั้นไม่ใช่การลดทอนความสำคัญของคนกลุ่มอื่น ๆ ดังนั้นหากเราอยากทำงานกับคนกลุ่มอื่น ๆ เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย แตกต่างมากขึ้นก็ไม่ได้ผิดหลักการ SDGs แต่อย่างใด
SDG 101 เนื้อหารูปแบบใหม่ที่อยากหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าแบบย่อยง่ายให้คุณรู้จัก SDGs ในมุมที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sdgmove.com/category/sdg-101/