เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1970 ประธานาธิบดีนิกสันลงนามใน Clean Air Act of 1970 (CAA) หรือพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ปี 1970 ซึ่งเป็นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ในปัจจุบันจำนวนประชากรและรถบนท้องถนนเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจก็ขยายตัวมากขึ้น แต่คุณภาพอากาศทั่วสหรัฐอเมริกาก็สะอาดขึ้นถึง 77% ความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพอากาศในครั้งนี้ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันมีชีวิตยืนยาวขึ้น ช่วยประหยัดเงินได้หลายล้านล้านดอลลาร์ และทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จระดับโลกในการจัดการมลพิษทางอากาศ
การดำเนินการของพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ปี 1970
- 1970 — ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกซัน ลงนาม พ.ร.บ. อากาศสะอาด ปี 1970 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการกำหนดวันคุ้มครองโลก (Earth Day)
- 1977 — แก้ไข พ.ร.บ. อากาศสะอาด เพื่อจัดการปัญหาคุณภาพอากาศโดยรอบในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ
- 1990 — แก้ไข พ.ร.บ. อากาศสะอาด โดยมีการขยายกฎระเบียบด้านคุณภาพอากาศอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงโครงการหยุดฝนกรด
- 1996 — แบนการใช้น้ำมันเบนซินในรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งช่วยในการลดปริมาณสารตะกั่วซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศลงอย่างมาก
- 1999 — มีโครงการลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งสามารถลดความเข้มข้นของโอโซนโดยเฉลี่ยลงได้ 6% ในที่สุด
- 2005 — ออก พ.ร.บ. นโยบายพลังงาน ปี 2005 ซึ่งมีบทบัญญัติของพ.ร.บ. อากาศสะอาดสำหรับกฎระเบียบด้านเชื้อเพลิง
- 2011 — กำหนดกฎหมายมลพิษทางอากาศข้ามรัฐซึ่งควบคุมการปล่อยมลพิษที่จะเพิ่มปริมาณมลพิษทางอากาศให้รัฐอื่นๆ
- 2020 — ครบรอบ 50 ปี พ.ร.บ. อากาศสะอาด ปี 1970 ซึ่งยังคงเป็นมาตรฐานความสำเร็จของการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
“พระราชบัญญัติอากาศสะอาดยังคงเป็นกฎหมายสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่กำหนดขึ้นในศตวรรษที่ 20” Paul Billings จาก American Lung Association กล่าว
นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ปี 1970 ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 (อนุภาคละเอียดที่เป็นอันตรายที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางต่ำกว่า 2.5 ไมโครเมตร) ในอากาศได้ลดลงเป็นวงกว้างทั่วประเทศ โดยมีค่าเฉลี่ยปี 2016 อยู่ที่ 7.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ไม่เกิน 25 และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)
และหนึ่งในบรรดาบทบัญญัติมีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องกำจัดมลพิษจากท่อไอเสียลงให้ได้ 90% ทำให้รถยนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่สะอาดกว่ารถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1970 ถึง 99%
กฎหมายนี้เปลี่ยนการดำเนินการเพื่อควบคุมคุณภาพทางอากาศที่ส่วนใหญ่เป็นความพยายามภายในแต่ละรัฐมาเป็นการดำเนินการนำโดยรัฐบาลกลาง ภายใต้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency: EPA) กระตุ้นให้เกิดการจำกัดมลพิษทางอากาศหลักๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาอย่างเข้มแข็งและบูรณาการ โดยมีเป้าหมายและลำดับการดำเนินการที่เจาะจง นอกจากนี้ยังให้อำนาจประชาชนในการฟ้องร้องรัฐบาลหากล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วย
พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากวุฒิสภาสหรัฐฯ และผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยมีเพียงเสียงเดียวที่คัดค้าน นี่เป็นเครื่องเตือนใจว่าเรามีความสามารถมากขนาดไหนในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเป็นเรื่องยาก หากผู้นำทางการเมืองพร้อมที่จะบริหารจัดการปัญหาบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
มลพิษทางอากาศ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเก็น ลดการตายและป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษต่างๆ (3.9) - SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ในประเด็น การเข้าถึงพลังงานสะอาด (7.1) และ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) (7.2) - SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ในประเด็น การจัดการมลพิษทางอากาศและของเสีย (11.6) - SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น การลดการปล่อยสารเคมีและของเสียเป็นพิษออกสู่ธรรมชาติและจัดการอย่างถูกต้อง (12.4)
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าว “ศุภชัย” สุดเสียดาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด แก้ PM 2.5 โดนนายกฯ ตีตก ซึ่งเป็นข้อความจากนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย แจ้งว่ามีหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรองพระราชบัญญัติพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. … ที่ นายศุภชัย ใจสมุทร และคณะเสนอ ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพราะเห็นว่าเป็น ‘พระราชบัญญัติทางการเงิน’
อ่านเอกสารสรุปสาระสำคัญ ของร่างพระราชบัญญัตกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. โดย เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ที่ https://bit.ly/3sUuEx6
ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด เพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. กำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ได้ที่ https://bit.ly/3rOJvrl
ที่มา: National Geographic, Resources