ธนาคารโลกเผยผลการศึกษา ‘โอกาสทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฉกฉวย’ เพื่อส่งเสริมการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่และการจัดการขยะพลาสติกในทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยศึกษาข้อมูลจากประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
จากการศึกษาพบว่า มีพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้น้อยกว่า 25% ในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยที่นำกลับมาเป็นวัตถุดิบที่สร้างมูลค่าได้อีกครั้ง โดยพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้อีก 75% กลายเป็นขยะที่สูญเปล่า ทำให้ทั้งสามประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปมากถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เพราะไม่มีการนำพลาสติกแแบบใช้ครั้งเดียวกลับมาใช้ใหม่
ธนาคารโลกเห็นว่า การนำแบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จะสามารถช่วยลดจำนวนของเสียที่จะไปสิ้นสุดในหลุมฝังกลบ ซึ่งอาจปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำและลงสู่ทะเลในที่สุด
จากการศึกษาพบว่าอุปสรรคในการรีไซเคิลพลาสติกนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่สามารถมีแนวทางการดำเนินการร่วมกันที่รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ได้ เพื่อช่วยให้มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยสามารถปลดล็อกมูลค่าเพิ่มจากขยะพลาสติก โดยคำแนะนำมีดังต่อไปนี้:
- เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภค
- กำหนดเป้าหมายส่วนประกอบที่เป็นพลาสติกรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติกที่สำคัญทั้งหมด
- กำหนดมาตรฐาน “การออกแบบเพื่อการรีไซเคิล” สำหรับพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรจุภัณฑ์
- ส่งเสริมให้เพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิลพลาสติกทั้งเชิงเคมีและเชิงกล
- ใช้ข้อกำหนดเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มอัตราการเก็บขยะพลาสติกและการรีไซเคิล
- จำกัดการทิ้งขยะพลาสติกลงหลุมฝังกลบและยกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น
ตามข้อมูลจากธนาคารโลก พลาสติกจำนวนมากถึง 13 ล้านตันจบลงที่มหาสมุทรทั่วโลกในแต่ละปี ซึ่งขยะพลาสติกกว่า 80% มาจากทวีปเอเชีย โดยฟิลิปปินส์และไทยเป็นประเทศที่ก่อมลพิษจากพลาสติกมากที่สุดในโลกเป็นอันดับสามและหกตามลำดับ
อ่านผลการศึกษาเฉพาะประเทศเพิ่มเติม – มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ ไทย
การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน - SDG 12 รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น ลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle (12.5) - SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล ในประเด็น การป้องกันและลดมลพิษทางทะเลโดยเฉพาะที่เกิดจากกิจกรรมบนแผ่นดิน (14.1)
ที่มา: World Bank และ Asia News