ผู้นำทั้ง 25 ประเทศ และ องค์การอนามัยโลก (WHO) สนับสนุนแนวคิดในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะช่วยให้โลกจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในอนาคต แบบเดียวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดทั่วโลก
องค์การอนามัยระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 ว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดของประชาคมโลก ตั้งแต่ทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา และในอนาคตไม่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานใดที่สามารถจัดการกับการระบาดใหญ่หรือภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพครั้งต่อไปได้โดยลำพัง
ประชมคมระดับนานาชาติควรร่วมมือ “ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่สำหรับการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับการระบาดของโรค” เพื่อสร้างโครงสร้างทางสุขภาพระดับโลกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยจะปกป้องชีวิตคนรุ่นต่อไปได้
เป้าหมายหลักของสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่สำหรับการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับการระบาดของโรคนี้ คือการส่งเสริมรูปแบบความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่มีความครอบคลุม เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก และความสามารถในการฟื้นตัวของโลกหากมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ผ่านระบบแจ้งเตือนที่ดีขึ้น การแบ่งปันข้อมูลการวิจัย และการผลิตและจำหน่ายวัคซีน ยา การวินิจฉัยโรค และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล นี่เป็นโอกาสที่คนทั้งโลกจะผนวกรวมเป็นประชาคมโลกเพื่อความร่วมมืออย่างสันติที่ขยายไปไกลกว่าวิกฤติครั้งนี้
สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากผู้นำของ 1) ฟิจิ 2) ไทย 3) โปรตุเกส 4) อิตาลี 5) โรมาเนีย 6) อังกฤษ 7) รวันดา 8) เคนยา 9) ฝรั่งเศส 10) เยอรมนี 11) กรีซ 12) เกาหลี 13) ชิลี 14) คอสตาริกา 15) แอลเบเนีย 16) แอฟริกาใต้ 17) ตรินิแดดและโตเบโก 18) เนเธอร์แลนด์ 19) ตูนิเซีย 20) เซเนกัล 21) สเปน 22) นอร์เวย์ 23) เซอร์เบีย 24) อินโดนีเซีย 25) ยูเครน และ WHO
สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะช่วยให้โลกจัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในอนาคต เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน - SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ - SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา: WHO