SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ – เมื่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กำหนดสถานะสุขภาพและอายุขัยของคุณไว้แล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด

“อยากอายุยืน อยากสุขภาพดี ต้องเลือกเกิดถูกให้ที่ ?”

“เด็กที่เกิดในกลุ่มประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human development index) สูงจะมีอายุขัยคาดเฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่เกิดในประเทศที่มีระดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำถึง 19 ปี

“มีรายงานว่าคนที่ไม่รู้หนังสือ ‘สุขภาพไม่ดี’ บ่อยกว่าคนที่ได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษาถึง 100%”

“การลงทุนนอกภาคสุขภาพ 50% ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลดลง”

“76% ของเงินสดที่จ่ายให้ครัวเรือนรายได้ต่ำช่วยลดภาวะขาดสารอาหารของทารกได้ 7%”

“อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในพื้นที่ด้อยโอกาสสูงกว่าพื้นที่ที่มีคุณภาพชีวิตดีถึง 2 เท่า”


– องค์การอนามัยโลก (WHO)

สถานะสุขภาพและอายุขัยของประชาชนที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของประเทศและและระดับความยากจนของครอบครัวที่บุคคลนั้นเกิดเป็นประเด็นของความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความเป็นธรรมด้านสุขภาพ (Health Equity) ที่ไม่ควรเกิดขึ้น และไม่ควรยอมรับให้ดำรงอยู่ต่อไป ความไม่เป็นธรรมนี้เกิดจากปัจจัยแวดล้อมทั้งใกล้และไกลตัวที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและกำหนดรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมนั้นซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพ บุคคลที่อยู่ในสถานภาพสังคมแตกต่างกันจะมีสุขภาวะที่แตกต่างกัน ปัจจัยเชิงโครงสร้างและระบบเหล่านั้นเรียกว่า ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health: SDH)

“ร่างกายและสุขภาพของเรา ไม่ใช่แค่เราที่เป็นผู้กำหนด”

| ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinants of health: SDH)

จากคำนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ หมายถึง สภาพแวดล้อมที่บุคคลเกิด เติบโต ทำงาน ดำรงชีวิตอยู่ ไปจนถึงระบบซึ่งกำหนดเงื่อนไขในชีวิตประจำวัน อาทิ นโยบายและระบบเศรษฐกิจ วาระการพัฒนา บรรทัดฐานทางสังคม นโยบายสังคมและระบบการเมือง

แนวคิดของปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ทำให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาและมีกระบวนทัศน์ใหม่ในการดูแลสุขภาพประชาชน สามประการสำคัญ ได้แก่ (1) การมองปัจจัยการเกิดโรคและความเจ็บป่วยไปไกลว่าปัจจัยระดับบุคคล ปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสรีรวิทยา หรือปัจจัยเชิงพฤติกรรม (2) การพิจารณาปัจจัยองค์รวมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตลอดช่วงทุกอายุของบุคคลนั้นๆ และ (3) การเพิ่มบทบาทการป้องกันโรค (Prevention) มากกว่าการรักษาพยาบาล

ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ มีอิทธิพลสำคัญต่อประเด็นความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ซึ่งคือความแตกต่างของสถานะสุขภาพที่ไม่เป็นธรรมและหลีกเลี่ยงได้ทั้งเกิดขึ้นภายในและระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับใด สุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชนนั้นจะแปรผันไปตามลำดับชั้นของสังคม ยิ่งสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคลนั้นอยู่ระดับล่างเท่าไร ก็จะมีแนวโน้มที่จะสุขภาพแย่ลงไปด้วย


| กรอบแนวคิดในการศึกษาปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพของคณะกรรมาธิการปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพระดับโลก (The Commission on Social Determinants of Health: CSDH)

องค์การอนามัยโลกได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการปัจจัยสังคมกาหนดสุขภาพขึ้นในปี 2005 เพื่อดำเนินการศึกษาหาหลักฐานและแนวทางในการจัดการกับปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพและความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพที่หลีกเลี่ยงได้ สร้างการขับเคลื่อนเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายความเป็นธรรมด้านสุขภาพ

คณะกรรมาธิการฯ ได้พัฒนากรอบแนวคิดในการศึกษาปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพที่กระทบต่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งเชื่อมโยงกับปัจจัยสองระดับคือ (1) ‘Structural Determinants หรือ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง’ ได้แก่ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง (Socioeconomic and Political Context) อาทิ การกระจายทางรายได้ เพศ เชื้อชาติ ความพิการ และโครงสร้างการกำกับดูแลของภาครัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นตัวกำหนดตำแหน่งและสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมให้กับบุคคล (Socioeconomic Position) เช่น ลำดับชนชั้นตามรายได้ การศึกษา อาชีพ เพศ เชื้อชาติ ที่ล้วนส่งผลต่อการมีสิทธิมีเสียงและการเข้าถึงทรัพยากรของบุคคลเหล่านั้น และ (2) ‘Intermediary Determinants หรือ ปัจจัยตัวกลาง/ปัจจัยส่งผ่านสุขภาพ’ ได้แก่ สภาพความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ พฤติกรรม และปัจจัยทางชีววิทยา ซึ่งล้วนเป็นผลลัพธ์มาจากการมีปัจจัยเชิงโครงสร้าง บริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอีกทอดหนึ่ง เช่น การเข้าถึงอาหารที่ดีและมีคุณภาพ ประเภทงานที่ทำ ระดับความเครียดจากสภาพแวดล้อม จนนำไปสู่ผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพ สุขภาวะ และความเป็นธรรมด้านสุขภาพ

ที่มา: WHO – A Conceptual Framework for Action on the Social Determinants of Health – Discussion Paper Series on Social Determinants of Health, no.2 (2010) https://www.who.int/social_determinants/publications/9789241500852/en/


นอกจากนั้น ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเจ็บป่วยของบุคคลที่ดีขึ้นหรือแย่ลงยัง “ส่งผลย้อนกลับ” ต่อสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคลนั้นๆ เป็นวงจรด้วยเช่น การเจ็บป่วยทำให้คนจนลงเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเสียอาชีพ ส่งผลให้สถานภาพทางสังคมต่ำลง ในทางกลับกันการมีสุขภาพดีเพิ่มโอกาสในการหาเงินและยกระดับที่ทางในสังคมได้ หรือในภาพใหญ่ หากมีการกำหนดนโยบายลดการจ้างงานและลดรายได้ ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนแย่ลง จนอาจเกิดโรคระบาดที่ในทำนองเดียวกันสามารถ ‘ย้อนกลับ’ มาส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองได้ 


| ระบบสุขภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ 

กรอบแนวคิดของ CSDH กำหนดให้ ระบบสุขภาพก็เป็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพอีกตัวหนึ่ง โดยมีบทบาทที่เกี่ยวข้องเป็นพิเศษคือประเด็นการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และประเด็นความสามารถของภาคสาธารณสุขในการเข้าไปทำงานเชิงรุกเพื่อให้เกิดการทำงานระหว่างภาคส่วนเพื่อยกระดับสุขภาพของประชาชน เช่น การบูรณาการให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ (อาศัยในพื้นที่ห่างไกล) นอกจากนี้ นโยบายและระบบสุขภาพยังเป็นตัวกลางสำคัญที่จะลดผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชน ที่เชื่อมโยงถึงการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสถานภาพทางสังคมที่ดำรงอยู่เมื่อสุขภาพแข็งแรง


| ปัจจัยสังคมกําหนดสุขภาพมีอะไรบ้าง ?

หากทำการสืบค้นคำว่า ‘Social Determinants of Health’ ก็จะพบว่ามีการจัดกลุ่มปัจจัยที่หลายหลาก ตาม จากการทบทวนวรรณกรรม “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ และการสร้างเสริมสุขภาพของประชากร” โดย นิภาพร เอื้อวัณณะโชติมา (2016) ท่ีได้สรุป รวบรวมปัจจัยดังกล่าวเป็นกลุ่มตามกรอบแนวคิดของ CSDH

ที่มา: นิภาพร เอื้อวัณณะโชติมา (2016)

ในระดับ บริบททางสังคมและการเมือง (Socioeconomic and Political Context) องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกากำหนดปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ การคมนาคม ในขณะที่กฎบัตรออตตาวา การศึกษาของ Dahlgren and Whitehead และการศึกษาของ Raphael และคณะ เน้นไปที่ทรัพยากรที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และการมีน้ำดื่ม น้ำใช้ และประเด็นสันติภาพและความปลอดภัยในสังคม

ในระดับ สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม (Socioeconomic Position) ทุกการศึกษาต่างกำหนดปัจจัยร่วมกัน คือ การศึกษา การมีงานทำ รายได้ ทั้งกฎบัตรออตตาวา องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา ยังให้ความสำคัญการสนับสนุนหรือการกีดกันทางสังคมและทางเศรษฐกิจ จากความแตกต่างทางเพศหรือเชื้อชาติอีกด้วย

ในระดับ ปัจจัยตัวกลาง/ปัจจัยส่งผ่านสุขภาพ กฎบัตรออตตาวา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา การศึกษาของ Dahlgren and Whitehead และการศึกษาของ Raphael และคณะ กำหนดปัจจัยร่วมกันคือ ที่อยู่อาศัย โดยองค์การอนามัยโลกให้ความสนใจในปัจจัยด้านอาหาร ชีวิตในวัยเด็ก การเสพติด ความเครียดจากสังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพที่แตกต่างกันนี้นี้เป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลก นโยบายการพัฒนาและโครงการทางสังคมที่อยู่เหนืออำนาจการควบคุมของปัจเจกบุคคล ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก

*ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม กรอบแนวคิดปัจจัยสังคมกําหนดสุขภาพที่สำคัญ จาก องค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) และกระทรวงสาธารณสุข ได้ที่ กรอบแนวคิด SDH


| ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ คือ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ (Health equity) สอดคล้องกับหลักการ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Left no one behind) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อบรรลุความเป็นธรรมด้านสุขภาพเราต้องจัดการกับปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพที่เป็นปัญหา ซึ่งปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพเหล่านี้เชื่อมโยงเกับเป้าหมาย SDGs หลากหลายเป้าหมายเช่นกัน ไม่จำกัดเฉพาะ SDG 3 ที่เป็นเป้าหมายด้านสุขภาวะ การดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs มีแนวโน้วที่จะส่งผลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพและความเป็นธรรมด้านสุขภาพไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยทางตรงคือ การบรรลุเป้าหมายเรื่องสุขภาพ และทางอ้อมคือ ประโยชน์อันเป็นผลพวงของการพัฒนาเป้าหมายอื่นๆ ที่เหลือ หากใช้ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพเป็นกรอบจะช่วยทำให้เห็นว่ามีประเด็นใดในการดำเนินการ SDGs ที่ต้องลงมือทำเพื่อส่งเสริมสุขภาพดีถ้วนหน้าของคนในสังคม

หากพิจารณาปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพตามมิติต่างๆ ด้านบน จะพบว่าสอดรับกับ SDGs หลายเป้าหมาย ดังเช่น

  1. การคมนาคม – #SDG3 ในประเด็น การตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (3.6) #SDG9โครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น #SDG11 เมืองยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ปลอดภัย จ่ายได้ และคำนึงคนเปราะบางกลุ่มต่างๆ ด้วย (11.2)
  2. ความมั่นคงทางอาหาร อาหารที่มีประโยชน์ – #SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการ (2.1)
  3. ความปลอดภัยในสังคม สันติภาพ – #SDG16 สังคมสงบสุขและครอบคลุม ประเด็นการลดความรุนแรงทุกรูปแบบ (16.1)
  4. การสุขาภิบาล – #SDG6 น้ำสะอาดและสุขอนามัยสำหรับทุกคน ประเด็น การเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง (6.2)
  5. การศึกษา – #SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
  6. รายได้ในครัวเรือน – #SDG1 ขจัดความยากจน เน้นการใช้ระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคม (1.3)
  7. การจ้างงาน – #SDG8 งานที่ดีและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเด็น การบรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน (8.5)
  8. การกีดดันทางสังคม – #SDG10 ขจัดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ โดยไม่เลือกปฏิบัติ (10.2) และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ – #SDG5ความเท่าเทียมทางเพศ ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง (5.1)
  9. ที่อยู่อาศัย – #SDG11 เมืองยั่งยืน ในประเด็น การเข้าถึงที่อยู่อาศัยและบริการพื้นฐาน (11.1), การยกระดับชุมชนแออัด (11.1) และ #SDG7 การเข้าถึงพลังงานสะอาดในครัวเรือน (7.1) และ #SDG3ในประเด็นการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ (3.9) 
  10. ความเครียด พัฒนาการวัยเด็ก การบริการสุขภาพ และการเสพติด – #SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ (3.4) ประเด็นเรื่องยาเสพติดและแอลกอฮอล์ (3.5) การเข้าถึงบริการสาธารณสุขและป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน (3.8)

“การถมช่องว่างความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพเป็นประเด็นทางจริยธรรมที่สำคัญ เพราะความอยุติธรรมทางสังคมกำลังฆ่าประชาชนจำนวนมาก” – WHO

| การถมช่องว่างทางสุขภาพในช่วงชีวิตเรา

ในปี 2018 องค์การอนามัยโลกออกรายงาน ‘Closing the gap in a generation: Health equity through action on the social determinants of health’ หรือในฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า ‘ถมช่องวางทางสุขภาพในช่วงชีวิตเรา – บรรลุความเป็นธรรมทางสุขภาพด้วยปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ’ ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ มีข้อเสนอแนะต่อประชาคมโลก 3 ประการสำคัญ คือ

1. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันให้ดีขึ้น ครอบคลุมภารกิจ การดูแลทารกตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงพัฒนาการวัยเด็ก / ที่อยู่อาศัย / การจ้างงานที่เป็นธรรมและงานที่มีคุณค่า / สวัสดิการทางสังคมตลอดช่วงชีวิต / บริการสุขภาพถ้วนหน้า

นโยบายในการพัฒนาเงื่อนไขในการดำรงชีวิตให้ดีขึ้นต้องการการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม รัฐบาล และองค์กรระหว่างประะเทศร่วมวางแผนและลงมือทำด้วยกัน

2. แก้ไขการกระจายอำนาจ งบประมาณและทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ครอบคลุมภารกิจ ความเป็นธรรมทางสุขภาพในทุกนโยบาย / การเงินที่เป็นธรรม / ระบบตลาดที่มีความรับผิดชอบ / ความเท่าเทียมทางเพศ / ธรรมาภิบาลที่ดี

การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง ให้การสนับสนุนภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และระดับประชาชนทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ต้องอาศัยความทุ่มเทและมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้เห็นความก้าวหน้าตั้งแต่ระดับชุมชนจรถึงระดับโลก

3. วัดผล เข้าใจปัญหา และประเมินผลกระทบของภารกิจ ครอบคลุมภารกิจ สร้างบุคลากร ขยายฐานความรู้ และระบบติดตามประเมินผล

รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกต้องจัดระบบตรวจสอบความไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น ลงทุนในงานวิจัยด้านปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ และให้ความรู้เรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

จะเห็นได้ว่า ภารกิจเพื่อไปสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพนี้ต้องอาศัยกลไกการทำงานอย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพเท่านั้น และต้องการความร่วมมือทั้งในระดับพื้นที่และระดับโลก (#SDG17)เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาที่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาวะของประชาชนและความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ไม่ซ้ำเติมประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมถึงต้องอาศัยการลงมือทำของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับ ทั้งระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น เพื่อเข้าให้ไปจัดการสาเหตุของปัญหาที่เป็นรากลึกที่สุดของการจะมีสุขภาพดีซึ่งอาจถูกสังคมกำหนดไว้ตั้งแต่คุณยังไม่ลืมตาดูโลก

ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้ถมช่องว่างความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพให้คนไทยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างทางสุขภาพที่เป็นความท้าทายอยู่อีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสุขภาพของกล่มประชากรเปราะบาง เช่น คนเร่ร่อน คนพิการ/จิตเวช/ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ต้องขัง ตลอดจนคนไร้สถานะในประเทศรวมถึงการพัฒนานโยบายการสร้างเสริมสุขภาพที่จัดการที่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ด้วย


ขอบพระคุณข้อมูล ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ เพิ่มเติมจาก ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ


เรียบเรียงจาก

ปฏิบัติการปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ สู่ความเป็นธรรมทางสุขภาพ – Social Determinants of Health Action Towards Health Equity –  Just Society Network https://www.slideshare.net/justfairthailand/social-determinants-of-health-action-towards-health-equity

The Sustainable Development Goals and Health Equity https://www.sdgsinhighered.se/wp-content/uploads/sites/55/2019/03/Health-equity-SDG.pdf

ถมช่องวางทางสุขภาพในช่วงชีวิตเรา – บรรลุความเป็นธรรมทางสุขภาพด้วยปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/69832/9786161101855_tha.pdf?sequence=76&isAllowed=y

Closing the gap in a generation: health equity through action on the social determinants of health – Final report of the commission on social determinants of health https://www.who.int/publications/i/item/WHO-IER-CSDH-08.1

WHO – Social determinants of health https://www.who.int/health-topics/social-determinants-of-health

Last Updated on เมษายน 9, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น