Site icon SDG Move

SDG 101 | รู้หรือไม่? SDGs ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ไม่มีบทลงโทษ แต่ก็สามารถมีผลในความเป็นจริงได้

ขณะที่ความตกลงเกี่ยวด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาในโลกสำคัญอื่น ๆ มักมีการผลักดันให้มีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้มีผลผูกมัดกับประเทศที่ลงนามทั้งในรูปบบของความตกลง สนธิสัญญา อนุสัญญา เช่น ความตกลงปารีส อนุสัญญาสต็อกโฮล์ม เป็นต้น 

แต่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เป็นวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) นั้นต่างออกไป ด้วยความตั้งใจที่ทำให้เป็นภาพใหญ่ที่ทุกคนทั่วโลกเห็นร่วมกัน จึงไม่ได้ผลักดันให้มีสถานะทางกฎหมายแต่มีสถานะเป็นการให้คำมั่นของประเทศสมาชิกมีสถานะเป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (non-legally binding)  จึงไม่มีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งช่วยให้แต่ละประเทศตกลงที่จะเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น และจึงใช้กระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการลงมือทำในภายหลัง อันเป็นผลดีและทำได้ง่ายกว่าการบังคับแต่แรก

อย่างไรก็ตาม SDGs ยังมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือเป็นกรอบการพัฒนาที่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดมีระบบติดตามประเมินผล ทั้งยังเป็นวาระระดับโลกที่มีประเทศร่วมกว่า 193 ประเทศ ทำให้มีการนำกรอบ SDGs เข้าไปใช้ในลักษณะผนวกเอาไว้กับแผนยุทธศาสตร์ภายในประเทศ แผน/เป้าหมายในระดับภูมิภาค เช่น อาเซียนก็ได้นำเอาแนวคิดและประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ SDGs ให้ความสำคัญมาประเมินสถานการณ์ในภูมิภาคและบรรจุเอาไว้ใน  ASEAN 2025 Blueprints ส่วนในระดับประเทศกรณีของประเทศไทยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับ SDGs จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ เป็นเจ้าภาพในประเด็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญยังได้นำเอาเป้าประสงค์ และตัวชี้วัดที่ SDGs กำหนดผนวกเข้าไปในแผนของหน่วยงานด้วย ซึ่งหากเราพิจารณาในบริบทการบริหารงานของระบบราชการที่มีความเกี่ยวโยงกับตัวชี้วัดสูง การที่สามารถผนวก SDGs เข้าไปก็จะช่วยให้มีการผลักดันให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมได้อีกแบบหนึ่ง

SDG 101 เนื้อหารูปแบบใหม่ที่อยากหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าแบบย่อยง่ายให้คุณรู้จัก SDGs ในมุมที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sdgmove.com/category/sdg-101/

Author

  • Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

Exit mobile version