สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการออก “พันธบัตรสีน้ำเงิน (blue bond)” โดยจะนำเงินไปสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลตลอดจนการพัฒนาทะเลไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า พันธบัตรสีน้ำเงินเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ก่อนหน้านี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ออกพันธบัตรสีเขียว (green bond) พันธบัตรเพื่อสังคม (social bond) และพันธบัตรเพื่อความเพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) เพื่อผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พันธบัตรสีน้ำเงิน คือ ตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายเพื่อระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานและนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเล ไปจนถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน
เศรษฐกิจมหาสมุทร หรือ “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” หมายถึงทุกภาคเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมหาสมุทร ประกอบไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับทะเล ทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจและการกระจายธุรกิจชายฝั่ง ซึ่งรวมถึงโอกาสที่เกิดจากกิจกรรมทางทะเลแบบดั้งเดิมด้วย
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า โครงการริเริ่มพันธบัตรสีน้ำเงินเพื่อรักษาและสนับสนุนการพัฒนาทะเลไทยเป็นเรื่องค่อนข้างท้าทายและจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ โดยจะสามารถสร้าง GDP ของไทยให้ได้สูงถึง 12%
พันธบัตรสีน้ำเงิน เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเป้าประสงค์ 17.1 เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ ของรัฐ
ที่มา: Bangkok Post
Last Updated on เมษายน 13, 2021