Site icon SDG Move

SDG Updates | เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564

ณ เวลานี้ ผู้คนยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างที่เป็นอยู่ที่นำมาซึ่งความมั่งคั่งของนานาประเทศนั้น มาจากการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างสิ้นเปลือง อันเป็นผลทำให้ 1 ใน 3 ของผืนดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อย่างมหาศาล สัตว์กว่า 1 ล้านสปีชีส์อยู่ในจุดเสี่ยงของการสูญพันธุ์ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งย้อนกลับมาทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในจุดเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ขยายถ่างกว้างขึ้น พร้อมกับที่การมาถึงของโควิด-19 ได้ตอกย้ำภาพสะท้อนของผลลัพธ์จากระบบเศรษฐกิจดังกล่าวว่า การพัฒนาต้องเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสมดุลและคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น

ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2564 นี้ ประเทศไทยโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่จะพาไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

SDG Updates ฉบับนี้จึงชวนอ่านว่า BCG คืออะไร? ทำไมคำว่า BCG ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้กลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการปรับโฉมหน้าเศรษฐกิจใหม่และการประสานความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนา รวมไปถึงว่าไทยกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569 นั้น เบื้องต้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

โมเดลเศรษฐกิจ BCG คืออะไร?

BCG ย่อมาจาก ‘Bio-Circular-Green’ Economy หรือการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (green) ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่จำเป็นที่จะต้องนำมาสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เพื่อเตรียมความพร้อมปรับตัวต่อความท้าทายของโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และอาหาร ที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกัน และเพื่อปรับให้ระบบเศรษฐกิจมีความสมดุลและความยั่งยืนมากขึ้น

โมเดลเศรษฐกิจ BCG หนทางที่โลกมองว่า
จะนำไปสู่ความยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากคำอธิบายข้างต้น จะเห็นได้ว่าตามหลักการของทั้งสามการพัฒนาเศรษฐกิจได้สอดรับกับ ‘ความยั่งยืน’ ตาม SDGs ไม่ว่าจะเป็น

ภาพจาก: สอวช.

ทั้งยังเป็นโมเดลที่เรียกร้องให้ต้องสำรวจความเชื่อมโยงของแต่ละประเด็น (Interlinkage) ระหว่างกัน มองเชิงระบบและให้มีการบูรณาการการทำงาน (integrated) กับหลากภาคส่วน โดยคำนึงว่าการดำเนินการหนึ่งควรมีผลลัพธ์ที่สมดุลและลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เป็นการเสริมพลังกัน “Synergies ลด trade-offs” “Circularity และ Decoupling”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะเป็นการกระจายรายได้และโอกาสไปยัง ‘ชุมชน’ ส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานรากที่จะทำให้ความมั่งคั่งครอบคลุมทุกคน หรือ ‘Inclusive Growth’ อันเป็นหลักการการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังของ SDGs เช่นเดียวกับที่ บทความ ซึ่งเผยแพร่โดย thaipublica.org ก็ได้ชี้ ‘โอกาสธุรกิจใหม่’ ที่จะเกิดขึ้นจาก BCG ในยุค New Normal ในการสร้างงานและอาชีพสำหรับทุกคน รวมถึงข้อมูลจากงานเสวนาการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ยกตัวอย่างจากฝากฝั่งสหภาพยุโรปว่า ในปี 2555 เศรษฐกิจชีวภาพสามารถสร้างรายได้มากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการจ้างงานมากกว่า 22 ล้านคน

เรียกได้ว่า สหภาพยุโรปเป็นผู้นำสามเศรษฐกิจก็ว่าได้ ทั้งการมีนโยบาย European Green Deal ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ลดให้เป็นศูนย์และมีพลังงานสะอาดภายในปี 2593 สหภาพยุโรปยังเข้มงวดกับการจัดการปัญหา ‘ฟอกเขียว’ (Greenwashing) กับสินค้าติดฉลากสีเขียวที่จะต้องมีคุณสมบัติ ‘รักษ์โลก’ ที่แท้จริง การเน้นให้สินค้าใช้วัสดุที่สามารถ ‘ซ่อมได้’ เพื่อแก้ไขวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง ซึ่งจะต้องรณรงค์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การเตรียมปรับปรุงกฎหมายการออกแบบสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Ecodesign) ภายในครึ่งหลังของปี 2564 กับสินค้าจำพวกอิเล็กทรอนิกส์ แพ็กเกจจิ้ง พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง อาหาร เป็นต้น พร้อมกับเตรียมจัดทำกฎหมายความรับผิดชอบต่อสังคม (Sustainable Corporate Governance หรือ Due Diligence) ที่จะควบคุมและตรวจสอบสินค้านำเข้าและผู้ผลิตให้มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วย

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังใส่ใจรายละเอียดในแต่ละภาคส่วนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมจัดทำยุทธศาสตร์สิ่งทอยั่งยืน (EU Strategy on Sustainable Textiles) ปรับให้สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ใช้ทรัพยากรมหาศาลเข้าสู่ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ โดยเร็วที่สุด วางแผนออกกฎหมาย ‘Circular Electronics Initiative’ จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่จะมีการบัญญัติ ‘สิทธิในการซ่อมแซม’ (Right to Repair) เพื่อจัดการกับการตลาดที่สนับสนุนให้ลูกค้าซื้อสินค้าชิ้นใหม่เสมอ เป็นต้น ตลอดจนมีนโยบายที่จะผลักดันสนธิสัญญาว่าด้วยพลาสติก (Global Agreement on Plastics) จัดการกับปัญหาพลาสติกตั้งแต่การผลิต-ใช้-ทิ้ง รวมถึงเปลี่ยนมาใช้ใช้พลาสติกที่ย่อยสลายง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์, 19 มีนาคม 2564, ดิจิทัลฟอรัม ‘Nature at the heart of the global circular bioeconomy’ อ่านต่อที่: “We must invest in nature”: Prince Charles on the circular bioeconomy

ส่วนฝากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ก็ได้ก่อตั้ง ‘Circular Bioeconomy Alliance’ ตั้งแต่ปี 2563 ร่วมกับ European Forest Institute (EFI) โดยมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ ‘เศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนระดับโลก’ (global circular bioeconomy) ให้การพัฒนาเศรษฐกิจคำนึงถึงทรัพยากรชีวภาพเป็นศูนย์กลางและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีจุดเน้นคือ ‘เครื่องมือทางการตลาด 10 ข้อ’ (Sustainable Markets 10-point action plan) สนับสนุนภาคเอกชน เกษตรกร เจ้าของป่าไม้เอกชน และบริษัทฐานชีวภาพ (biobased) ให้คำนึงถึงเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม รวมถึงการเลือกใช้ ‘ทางเลือก’ ที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง

ว่าด้วยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย
พ.ศ. 2564 – 2569

วาระแห่งชาติของไทยสอดคล้องกับวาระของโลกด้วยเช่นกัน โดยยุทธศาสตร์โมเดล BCG มีด้วยกัน 4 ข้อ

  1. การจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ
  2. การใช้จุดแข็ง อัตลักษณ์ และศักยภาพของพื้นที่ (ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม) ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้สูงขึ้น เพื่อการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก
  3. การใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  4. สร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยไทยให้ความสำคัญกับทุนพื้นฐานของการมีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และนำยุทธศาสตร์ข้างต้นสู่การปฏิบัติโดยเน้นที่ 4 สาขาอุตสาหกรรม s-curve สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมวัสดุและเคมีชีวภาพ

ซึ่งนอกจากการพัฒนา ‘ตามสาขา’ (BCG Sectoral Development) ดังกล่าวแล้ว การจะขับเคลื่อนตามโมเดลนี้ได้สำเร็จ ข้อมูล BCG in Action : The New Sustainable Growth Engine โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ระบุว่า จะต้องมีการเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ ‘6 กลุ่ม’ ได้แก่ กลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม กลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กลุ่มผู้ให้บริการมูลค่าสูง กลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์

ควบคู่ไปกับการพัฒนา ‘เชิงพื้นที่’ ตามความสามารถของแต่ละภูมิภาคของไทย อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัย’ เฉพาะด้านด้วย

ซึ่งล่าสุด (เมษายน 2564) ในแต่ละสาขาเองก็ได้แสดง ‘ความมุ่งมั่น’ ของการผลักดัน BCG ให้เกิดขึ้นจริง ทั้ง ภาคเกษตรกรรม โดยยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีส่วนที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มรายได้และอาชีพระดับชุมชนบนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วยการพัฒนาการเกษตรในเมืองและในชนบท โดยที่มี ‘ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม’ (ศูนย์ AIC) ทั้ง 77 จังหวัด เป็นกลไกขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ระดับภูมิภาค และ ภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มุ่งปรับโครงสร้างการผลิตและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจรตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย จนถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและของเสีย รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศกับ ‘Circular Startup’ ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ขยะเป็นศูนย์ด้วย โดยมีแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับพื้นที่ของจังหวัดนำร่องภาคเหนือตอนบน ที่สำคัญ สศอ. จะมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยทั้งในแง่ของกฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ และการพัฒนาระบบนิเวศต่อไป ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ได้อนุมัติงบประมาณลงทุนด้านกิจการไบโอเทค เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง กว่า 2,400 ล้านบาท ในสาขาการแพทย์ อาหาร และพลาสติกชีวภาพแล้วในเดือนนี้

ส่วนในแง่ของหุ้นส่วนความร่วมมือกับต่างประเทศ ไทยซึ่งเป็นประเทศที่เชื่อมกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและลุ่มแม่น้ำโขงนั้น ได้วางแผนนำเสนอให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะประสานความร่วมมือ ‘ห่วงโซ่การผลิต’ ระหว่างกันที่จะสร้างโอกาสการค้า การลงทุน และจำนวนงานสำหรับภูมิภาคได้อีกมาก โดยตั้งแต่ปีนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมบิมสเทค (BIMSTEC) วาระปี 2564 – 2565 ซึ่งเป็นความร่วมมือในภูมิภาคอ่าวเบงกอลอันประกอบไปด้วยความหลากหลายทางวิชาการและเศรษฐกิจของ 7  ประเทศสมาชิก (บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย เมียนมา เนปาล ภูฏาน ไทย) ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีแรงงานจำนวนมาก และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้น ไทยวางแผนให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ให้กลับมาเติบโตได้อย่างเต็มที่ และหวังให้สามารถหลุดพ้นจากสถานะประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดได้ต่อไป

นอกจากนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค (APEC) ในปี 2565 ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก โดยคาดว่าจะผลักดัน 5 สาขาสำคัญ ทั้งการส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างเสรี การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบ ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร สุขภาวะที่ดี (well-being) และการก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล ให้เศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกได้ขับเคลื่อนบนฐานของโมเดลเศรษฐกิจ BCG

จะเห็นได้ว่าไทยเองก็มีความมุ่งมั่นและพยายามในระดับนโยบายภายในประเทศที่สอดคล้องกับวาระที่โลกเห็นว่าจำเป็นและสำคัญ ควบคู่ไปกับการใช้พื้นที่ความร่วมมือระหว่างประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสอดประสานสนับสนุนซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดี เรายังจำต้องจับตาดูต่อไปในทางปฏิบัติว่ากฎระเบียบและมาตรการที่จะเอื้ออำนวยให้เกิด ‘การเปลี่ยนผ่าน’ และในแต่ละสาขาที่มุ่งเน้น อาทิ เจาะไปที่การผลิต การจัดการขยะ การใช้พลาสติกและวัสดุทางเลือก ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตาม Bio-Circular-Green นั้นจะเป็นอย่างไร รวมถึงว่าผู้คนในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคนั้นจะปรับตัวตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างไร

แหล่งอ้างอิง:
นายกรัฐมนตรีประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ
BCG in Action : The New Sustainable Growth Engine
“BCG” โอกาสธุรกิจใหม่ในยุค New Normal
Why the world needs a ‘circular bioeconomy’ – for jobs, biodiversity and prosperity
จับตา 4 เทรนด์นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป ปี 2021 โมเดลที่ไทยอาจใช้เป็นกรณีศึกษาและปรับตัว
‘สศอ.’ตั้งธง BCG Model ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ครม.ตั้งงบ 275 ล้านบาท หนุนไทยเจ้าภาพจัดประชุมบิมสเทค ครั้งที่ 6
‘เอเปค’ ปลุกเศรษฐกิจรับความท้าทายหลังโควิด

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version