การศึกษาใหม่จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่ามีพื้นที่เพียง 3% บนโลกเท่านั้นที่ยังคงมีสภาพทางนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์ โดยมีสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมและถิ่นที่อยู่อาศัยไม่ถูกรบกวน นักวิจัยตีพิมพ์ข้อค้นพบที่น่าตื่นตระหนกนี้ในวารสาร Frontiers in Forests and Global Change เดือนเมษายน 2021
พื้นที่ที่ไม่ได้รับความเสียหายจากกิจกรรมของมนุษย์นั้นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่บางส่วนของป่าเขตร้อนแอมะซอนและคองโก ป่าและเขตทุนดราในไซบีเรียตะวันออกและตอนเหนือของแคนาดา และทะเลทรายซาฮารา แต่พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมากนักตั้งแต่แรก
งานวิจัยยังระบุอีกว่า พื้นที่ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์หลายแห่งอยู่ภายใต้การจัดการดูแลโดยชุมชนพื้นเมือง ผู้มีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่
ทุกคนต่างยอมรับว่าโลกกำลังอยู่ในวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากมีสัตว์ป่าจำนวนมากหายไป ทำให้สูญเสียพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางนิเวศ อันมีสาเหตุมาจากการล่าสัตว์และกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่นการเพาะปลูกและการขยายเมือง โรคระบาด และผลกระทบจากสายพันธุ์ที่รุกราน (invasive species)
สายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ทั้ง แมว สุนัขจิ้งจอก กระต่าย แพะ และอูฐ ส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์พื้นเมืองในออสเตรเลียอย่างรุนแรง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าออสเตรเลียไม่มีพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศวิทยาหลงเหลือแล้ว
นักวิจัยใช้วิธีตรวจสอบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติยังคงมีจำนวนสปีชีส์เท่ากับที่มีเมื่อปีค.ศ. 1500 หรือไม่ ซึ่งนี่เป็นมาตรฐานที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ใช้เพื่อประเมินการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต 7,000 สปีชีส์ที่อยู่ในบัญชีแดงของสปีชีส์ที่ถูกคุกคาม (Red List of Threatened Species) โดยข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ก็ยังรวมถึงนก ปลา พืช สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำด้วย แต่การวิเคราะห์นี้ไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่แอนตาร์กติกา
นักวิจัยแนะนำให้นำสัตว์สปีชีส์ที่สำคัญจำนวนหนึ่งกลับไปในพื้นที่ที่เสียหาย เช่น ช้างหรือหมาป่า ซึ่งถ้าทำเช่นนี้จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่โลกให้กลับมามีความสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาได้ถึง 20% โดยอ้างถึงความสำเร็จก่อนหน้านี้ที่มีการปล่อยหมาป่าสีเทาในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน สหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ระบบนิเวศของอุทยานฟื้นคืนขึ้นอีกครั้ง
การสูญเสียพื้นที่ที่มีความสมบูณณ์ทางระบบนิเวศทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าโลกกำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก และมันจะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อแหล่งอาหาร น้ำสะอาด และอากาศที่จำเป็นต่อมนุษยชาติ
ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - SDG 15 ระบบนิเวศบนบก ในประเด็น การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินและการใช้บริการทางระบบนิเวศนั้นอย่างยั่งยืน (15.1), การบริหารจัดการ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ทุกประเภท (15.2), การอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพ (15.4), ลดความเสือมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของสัตว์ต่างๆ (15.5), การป้องกัน Invasive Species (15.8) การระดมทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายมาเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (15.a) ระบบนิเวศบนบก ป่าไม้ และน้ำจืด (15.b) การเพิ่มขีดความสามารของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ (15.c) - SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล ในประเด็น การบริหารจัดการ อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง (14.2) - SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล ในประเด็น การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ (6.6)
ที่มา: The Guardian, Eco Watch
Last Updated on มกราคม 12, 2022