กลุ่มดาวเทียมจะถูกปล่อยขึ้นโคจรรอบโลกในทศวรรษนี้ เพื่อระบุตำแหน่งของจุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน
โครงการ Carbon Mapper จะปล่อยดาวเทียมที่มีเซนเซอร์ความละเอียดสูงหลายตัวที่สามารถให้มุมมองรายวันหรือละเอียดกว่านั้นขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยกลุ่มดาวเทียมจะค้นหา ‘Super-emitters’ หรือ ผู้ที่รับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ หรืออาจเป็นหลุมฝังกลบขยะที่จัดการไม่ดี และแหล่งอุตสาหกรรมนมขนาดใหญ่
ในปัจจุบันนี้มีดาวเทียมจำนวนมากบนท้องฟ้าที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมบนพื้นโลกอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดของเทคโนโลยี โดยจะสามารถตรวจจับก๊าซมีเทนได้ในเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่มาก และมีความละเอียดต่ำ จนไม่สามารถตรวจเจอการรั่วไหลขนาดเล็ก เช่น ท่อส่งก๊าซรั่ว ได้
บ่อยครั้งที่ผู้ปล่อยก๊าซฯ ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะดำเนินการแก้ไข จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ คือ ทุกคนมีข้อมูลดาวเทียมที่สามารถเข้าใจได้และนำข้อมูลนั้นไปใช้ต่อได้
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่จากการบริจาคจากมูลนิธิ High Tide Foundation และ Bloomberg นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ต้องการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เนื่องด้วยกฎหมายของรัฐให้คำมั่นว่าแคลิฟอร์เนียจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าระดับของปี 1990 ให้ได้ 40% ภายในปี 2030 และไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในที่สุด
โครงการ Carbon Mapper จะใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพสเปกโตรมิเตอร์ (spectrometer) ที่พัฒนาโดยหน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ หรือ NASA ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นตำแหน่งของแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ
บริษัท Planet จะปล่อยดาวเทียมต้นแบบ 2 ดวงขึ้นโคจรรอบชั้นบรรยากาศในปี 2023 สำหรับดาวเทียมที่เหลือจะถูกปล่อยตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีทั้งหมด 20 ดวงหรือมากกว่านั้น
ดูวิดีโอ การถ่ายภาพทางอากาศที่แสดงสีที่แปลกออกไปเนื่องจากเซนเซอร์ที่บินผ่านตรวจพบการรั่วไหลของก๊าซมีเทน
อ่านเพิ่มเติม โครงการ Carbon Mapper ได้ที่ https://carbonmapper.org
ความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ใน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - SDG 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่มา: BBC