‘biodiversity, climate change, health, and infectious diseases’
เดือนเมษายนนี้ ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจะเข้าร่วม ‘คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิอากาศ สุขภาพหนึ่งเดียว* และการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน’ (Expert Working Group on Biodiversity, Climate, One Health and Nature-based Solutions) นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature – IUCN) และเครือข่ายเพื่อนเพื่อการปรับตัวที่อิงกับระบบนิเวศ (Friends of Ecosystem-based Adaptation – FEBA)** ยกระดับความริ่เริ่มในความร่วมมือที่เกี่ยวข้องจากปี 2558 และปี 2563 เพื่อศึกษานโยบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และสหวิชาการของความสัมพันธ์และ ‘ภัยคุกคามร่วมกัน’ ของการสาธารณสุข ความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เป็น ‘แนวทาง’ สำหรับผู้กำหนดนโยบายได้ทราบผลประโยชน์ร่วมกัน*** (co-benefits) และการได้อย่างเสียอย่าง (trade-offs) ของสุขภาพคนและระบบนิเวศให้สมดุล เพื่อการสรรค์สร้างอนาคตที่ผู้คนมีสุขภาพดีขึ้น รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมสามารถรับมือและมีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยง ตลอดจนมีความยั่งยืนต่อจากยุคโควิด-19 นี้เป็นต้นไป
โดยในการพัฒนาแนวทาง (guidance) และเครื่องมือสู่การปฏิบัติ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญฯ ได้สำรวจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นและความเร่งด่วนของโรคติดต่อและไม่ติดต่อ มีการประเมินบทบาทและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพและปัจจัยสิ่งแวดล้อมกำหนดสุขภาพ โดยเฉพาะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เข้ามาเป็น ‘ตัวเร่ง’ ทำให้ความท้าทายของของแต่ละองค์ประกอบเดิมรุนแรงขึ้น ซึ่งจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะสามารถสนับสนุนสิ่งแวดล้อมบนบกและทะเล ตลอดจนสุขภาพกายและใจในพื้นที่เขตเมืองและชนบท รวมถึงประเด็นระบบและห่วงโซ่อาหารเพื่อสุขภาพที่ดี – การบริการจัดการแนวปฏิบัติในภาคการเกษตร การปศุสัตว์ การประมง และการป่าไม้ เป็นต้น
ด้วยมุมมองที่จะขยาย ‘ผลประโยชน์ร่วมกัน’ ให้สามารถดำเนินการตามจุดมุ่งหมายของแต่ละสาขา คู่ขนาน สอดประสานไปกับแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวได้ ขณะเดียวกับที่ ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นจะผนวกรวมอยู่ในนโยบาย – แนวทาง – โครงการของสุขภาพหนึ่งเดียวด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (3.3) โรคติดต่อ (3.4) โรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี (3.d) การแจ้งเตือนล่วงหน้า ลด และบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ
#SDG11 การพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัย และระบบขนส่งคมนาคมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ (11.5) ลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่มีต่อเมือง
#SDG13 การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 การอนุรักษ์ทรัพยากร ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และ
#SDG15 การอนุรักษ์ทรัพยากร ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพบนบก
*สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) – แนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพที่รวมสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน ให้ ‘สุขภาพดี’ อย่างเป็นองค์รวม
**การปรับตัวที่อิงกับระบบนิเวศ (Ecosystem-based Adaptation: EbA) – การใช้ความได้เปรียบทางธรรมชาติเข้ามาช่วยหรือปกป้องมนุษย์ ไม่ให้เผชิญกับหรือลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
***ผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ ผลประโยชน์ร่วมกันทางสุขภาพกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (health co-benefits of climate action) และผลประโยชน์ร่วมกันทางสุขภาพกับประเด็นสิ่งแวดล้อม หมายถึงว่าการดำเนินนโยบายลดผลกระทบและปรับตัวต่อ climate change ยังสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจและส่งเสริมสุขภาพได้ โดยที่การผนวกแนวคิดการจัดการกับ climate change ในการสร้างบ้านเรือน การขนส่งคมนาคม และพลังงาน ตลอดจนภายใต้แนวคิดของการบริหารจัดการและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเอง สามารถช่วยลดความเสี่ยงทางสุขภาพและส่งผลให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Nature-Based Solutions:
แหล่งที่มา:
https://www.who.int/news/item/30-03-2021-who-iucn-expert-working-group-biodiversity-climate-one-health-nature-based-solutions
Last Updated on มกราคม 12, 2022