นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และได้ใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านการยึดอำนาจอย่างโหดร้ายนั้น มีรายงานข่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตสูงมากถึงเจ็ดร้อยกว่าราย [1] และมีการจับกุมประชาชนมากกว่าสามพันคน [2] เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความกังวลและเสียงประณามจากทั่วโลก ทั้งจากบรรดาประเทศต่าง ๆ และจากองค์การระหว่างประเทศ โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววันนี้
SDG Updates วันนี้ ได้รวบรวมมาตรการที่ 3 องค์กร ‘เสาหลัก’ ภายใต้ระบบขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อยุติความรุนแรงและป้องกันมิให้สถานการณ์ในเมียนมาทวีความรุนแรงมากขึ้น เสาหลักเหล่านี้ได้แก่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) สมัชชาแห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) และสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations Secretariat) รวมถึงนายอันโตนิโอ กูแตร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบันด้วย
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Security Council – UNSC)
คณะมนตรีความมั่นคงถือเป็นเสาหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในกรอบขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากมีอำนาจภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติในการออกข้อมติกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม ในประเด็นปัญหาสถานการณ์ในเมียนมานั้น คณะมนตรีความมั่นคงได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาและมาตราการที่จำเป็นต่อการแก้ไขสถานการณ์มาเป็นระยะ ๆ โดยมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม นับจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากกฏว่าได้มีการดำเนินการออกข้อมติในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด คงมีเพียงแต่แถลงการณ์สำหรับสื่อมวลชน โดยฉบับแรกออกมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ [3] และฉบับที่สองออกในวันที่ 1 เมษายน โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ [4]
“คณะมนตรีความมั่นคงได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาและมาตราการที่จำเป็นต่อการแก้ไขสถานการณ์มาเป็นระยะ ๆ … แต่อย่างไรก็ตาม นับจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากกฏว่าได้มีการดำเนินการออกข้อมติในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด”
● ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแสดงความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วในเมียนมา และประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมอย่างสงบอันทำให้พลเรือนหลายร้อยคนเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงสตรีและเด็กจำนวนมาก
● ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาระงับการใช้กำลังให้มากที่สุด และยังต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต้องริเริ่มการสนทนาและกระบวนการสมานฉันท์ โดยต้องเป็นไปตามเจตจำนงและประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา ทุกฝ่ายจะต้องงดเว้นการใช้กำลังและกองทัพจะต้องปล่อยตัวบุคคลที่ถูกจับกุมโดยทันที ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มินต์
● ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงให้การสนับสนุนการทำงานของผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ และความพยายามในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN)
● ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงเรียกร้องให้มีการจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างปลอดภัยและสะดวก
● ในท้ายที่สุด ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยืนยันว่าเมียนมายังคงมีอำนาจอธิปไตย อิสรภาพทางการเมือง บูรณภาพทางดินแดน และเอกภาพ
นอกจากแถลงการณ์สองฉบับนี้แล้ว ยังมีแถลงการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติและออกในนามของคณะมนตรีความมั่นคงในวันที่ 10 มีนาคมด้วย [5] ซึ่งมีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกับแถลงการณ์ข้างต้น
ทั้งนี้ สาเหตุที่คณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถออกข้อมติที่มีเนื้อหาเป็นรูปธรรมได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากท่าทีและนโยบายของประเทศรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ทั้งสองประเทศต่างก็มีความเห็นว่า เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นั้นยังคงถือว่าเป็นกิจการภายในของประเทศเมียนมา ที่องค์การสหประชาชาติไม่ควรเข้าไปแทรกแซง [6] อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น อันอาจจะเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประเทศรอบข้าง อาทิ การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของคนออกจากประเทศเมียนมาไปสู่ประเทศข้างเคียง ความเห็นของรัสเซียและจีนนั้นน่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศนัก
สมัชชาสหประชาชาติ
(United Nations General Assembly – UNGA)
ภายใต้สมัชชาสหประชาชาติ มีองค์กรสำคัญในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้แก่ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลและเป็นองค์กรสำคัญในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนองค์กรหนึ่งในเวทีองค์การสหประชาชาติ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้จัดให้มีการประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา และได้ออกข้อมติซึ่งมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้ [7]
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนประณามการถอดถอนรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) และเรียกร้องให้ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับคืนสู่อำนาจ
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนประณามการจับกุมตัวผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย ซึ่งรวมไปถึงนางออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มินต์ ผู้นำทางการเมือง เจ้าหน้าที่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว สื่อ นักเคลื่อนไหว และบุคคลอื่น ๆ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกจับกุมตามอำเภอใจเหล่านี้ รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ระงับการใช้ความรุนแรงให้มากที่สุด และงดเว้นการใช้กำลังใด ๆ ต่อผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ ให้เคารพหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม โดยกองทัพของเมียนมาและเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการในทันทีเพื่อคุ้มครองสิทธิในความคิดเห็น สิทธิในการแสดงความเห็น สิทธิในศาสนาและความเชื่อ สิทธิในการสมาคมและการชุมนุมโดยสันติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องประกันว่าองค์กรภาคประชาสังคมและสื่อจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากความหวาดกลัว หรือการข่มขู่
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ยุติการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การโทรคมนาคม และสื่อโซเชียลในทันที และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิในความคิดเห็นและการแสดงความคิดเห็นอื่น ๆ อีก โดยเป็นไปตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยและโดยสะดวก
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสนับสนุนให้มีการริเริ่มการสนทนาและกระบวนการสมานฉันท์โดยเป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนชาวเมียนมา และให้การสนับสนุนบทบาทหน้าที่ของผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ
หลังจากนั้น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้จัดประชุมสมัยสามัญ โดยได้มีวาระพิจารณาประเด็นปัญหาสถานการณ์เมียนมาในวันที่ 24 มีนาคม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้รับรองข้อมติอีกหนึ่งฉบับเพื่อประณามการยึดอำนาจและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีสาระสำคัญยืนยันข้อมติฉบับก่อนหน้า แต่ได้เพิ่มเนื้อหาดังต่อไปนี้ [8]
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนรับรองว่าศาลอาญาระหว่างประเทศได้อนุญาตให้อัยการเริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวการกระทำความผิดที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในกรณีการบังคับให้คนต้องออกไปยังประเทศบังกลาเทศ
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนรับรองว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ออกคำสั่งว่าด้วยมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้เมียนมาต้องดำเนินมาตรการอันจำเป็นต่อการคุ้มครองชาวโรฮิงญา
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ผู้แทนและเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม คณะผู้แทนทางการทูต ผู้สังเกตการณ์ และตัวแทนจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยตลอดและไม่มีการกีดขวางแต่อย่างใด นอกจากนี้ ได้เรียกร้องให้มีการประกันว่า องค์กรภาคประชาชน นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ทนายความ เหยื่อ พยาน และบุคคลอื่น ๆ สามารถติดต่อกับองค์การสหประชาชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้โดยปราศจากการตอบโต้ การข่มขู่ หรือโจมตี
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเน้นย้ำความสำคัญขององค์การอาเซียนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการแสดงความกังวลและจัดให้กลุ่มต่าง ๆ ทางการเมืองในเมียนมาเริ่มกระบวนการสนทนากัน
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้บรรดาประเทศต่างๆ ที่มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนหรือดำเนินธุรกิจในเมียนมา หรือมีห่วงโซ่อุปทานในเมียนมา ดำเนินมาตรการอันเหมาะสมเพื่อประกันว่าธุรกิจเหล่านั้นมีการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (human rights due diligence) ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเอื้อต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนร้องขอให้ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติติดตามและประเมินสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยเฉพาะด้านการบังคับการตามความรับผิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา
● คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนร้องขอให้ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาติดตามและประเมินสถานการณ์นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ติดตามผลการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนต่อกองทัพเมียนมา ซึ่งรวมไปถึงการขอเดินทางเข้าไปในประเทศเพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่ของเมียนมา และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะมนตรีกลับมาเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยังได้ขยายระยะเวลาการทำงานของผู้รายงานพิเศษไปอีกหนึ่งวาระ
นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อสังเกตว่า ในเวทีสมัชชาสหประชาชาตินับจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการรับรองว่ากองทัพเมียนมาเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของประเทศเมียนมา และผู้แทนจากกองทัพก็ไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติของประเทศเมียนมาแต่อย่างใด [9] และนาย Kyaw Moe Tun ซึ่งปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ก่อนมีการยึดอำนาจยังคงได้รับการรับรองว่าเป็นผู้แทนเมียนมา และได้รับการรับรองให้เป็นผู้เข้าร่วมการประชุมกับคณะมนตรีความมั่นคง สังเกตได้ว่า ในเอกสารต่าง ๆ ที่ออกโดยคณะมนตรีความมั่นคงและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนนั้น จะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงกองทัพว่าเป็นรัฐบาลของประเทศเมียนมามาโดยตลอด
“ในเวทีสมัชชาสหประชาชาตินับจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการรับรองว่ากองทัพเมียนมาเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของประเทศเมียนมา และผู้แทนจากกองทัพก็ไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติของประเทศเมียนมาแต่อย่างใด”
สำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
(United Nations Secretariat)
ในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) นายอันโตนิโอ กูแตร์เรซ (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบันได้แต่งตั้งนาง Christine Schraner Burgener เป็นผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านสถานการณ์ในประเทศเมียนมา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการติดตามพัฒนาการในประเทศเมียนมา และป้องกัน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในรัฐยะไข่ โดยปัจจุบัน นาง Christine Schraner Burgene ได้พยายามเข้าพบผู้นำกองทัพของเมียนมาเพื่อเจรจาร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ แต่ยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ
นายอันโตนิโอ กูแตร์เรซเองก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจและการใช้กำลังต่อประชาชนในเมียนมามาอย่างต่อเนื่องในเวทีต่าง ๆ และได้ร้องขอให้นานาประเทศให้ความร่วมมือเพื่อยุติการใช้กำลังในประเทศเมียนมาโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้แล้ว ภายใต้สำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติมีสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน (United Nations Office of High Commissioner for Human Rights) ที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวบรวมข้อมูล และรายงานสถานการณ์ออกมาโดยตลอด นาง Michelle Bachelet ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนคนปัจจุบันก็ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ มีความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อยุติความรุนแรงและป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นจนเกิดความสูญเสียไปมากกว่าเดิม
“นาง Michelle Bachelet ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนคนปัจจุบันก็ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ มีความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อยุติความรุนแรงและป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นจนเกิดความสูญเสียไปมากกว่าเดิม”
ภาพจาก: cnn.com
โดยสรุปแล้ว อาจกล่าวได้ว่านับจนถึงปัจจุบัน การดำเนินมาตรการในองค์กรเสาหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในด้านสิทธิมนุษยชน ความรุนแรง ความขัดแย้ง และกระบวนการยุติธรรมในกรอบของกฎบัตรสหประชาชาตินั้นยังคงเป็นไปอย่างจำกัดอยู่มาก สมควรที่จะออกมาตรการเชิงรุก มีเนื้อหาเข้มงวดและเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อไปอย่างใกล้ชิด ในกรอบองค์การสหประชาชาติควบคู่ไปกรอบอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงท่าทีของประเทศมหาอำนาจต่อไป
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 การส่งเสริมสังคมที่สงบสุข มีส่วนร่วม ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันมีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุม
(16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้อง
(16.2) ยุติการข่มเหง ความรุนแรง และการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อ ‘เด็ก’
(16.3) ส่งเสริมนิติธรรมระดับชาติและระหว่างประเทศ หลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน
(16.4) ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงินที่สนับสนุน
(16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ โปร่งใส
(16.7) เน้นกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม มีความเป็น ‘ตัวแทนที่ดี’ ในทุกระดับการตัดสินใจ
(16.10) หลักประกันการเข้าถึงข้อมูลสำหรับทุกคน และการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศ
(16.a) ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องกันความรุนแรงและการต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม และ
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งระหว่างประเทศ/ระดับโลก (17.16) และภายในประเทศ (17.17)
ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร
[1] Reuter staff, ‘Myanmar junta chief to attend ASEAN summit on first foreign trip since coup’ (17 April 2021)
[2] OHCHR, ‘Intensifying widespread, systematic slaughter by Myanmar military must be halted – Bachelet’ (13 April 2021)
[3] ‘Security Council Press Statement on Situation in Myanmar, 4 February 2021’
[4] ‘Security Council Press Statement on Situation in Myanmar, 1 April 2021’
[5] ‘Statement by the President of the Security Council on Myanmar, 10 March, 2021’
[6] ตัวอย่างเช่นคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปตามรายงานข่าวฉบับนี้ Kate Abnett, ‘China, Russia undermine international Myanmar response, EU’s top diplomat says’, Reuters (11 April 2021)
[7] Human Rights Council, ‘Human Rights Implications on the Crisis in Myanmar’
[8] Human Rights Council, ‘Situation of Human Rights in Myanmar’
[9] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติม Marc Weller, ‘Myanmar: Testing the Democratic Norm in International Law’, EJI:Talk! (30 March 2021) ; Larry D Johnson, ‘What’s Wrong with this Picture? The UN Human Rights Council Hears the Military Junta as the Legitimate Government of Myanmar’ EJIL:Talk! (31 March 2021)