ทีมของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Houston พัฒนา ‘Mental Health Checklist’ (MHCL) เครื่องมือที่ให้นักบินอวกาศ ณ สถานีอวกาศ 2 แห่งในแอนตาร์กติก รายงานสภาพจิตใจของตัวเองเป็นระยะทุกเดือน ตลอดช่วงเวลา 9 เดือนผ่านช่วงหน้าหนาวที่เย็นสุดขั้ว เพื่อให้ทางทีมได้สำรวจดูการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรืออาการบ่งชี้ปัญหาสุขภาพจิต ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายอย่างยิ่งเพราะต้องติดอยู่กับที่คนเดียว ห่างจากผู้คนและครอบครัว (Isolated, Confined, Extreme – ICE) กับการบินอยู่ในห้วงอวกาศเป็นเวลานาน (Long-Duration Space Flight – LDSE) ที่เป็นบ่อเกิดทำให้มี ‘ความเครียดสุดขีด’ โดยการศึกษานี้ ได้ตีพิมพ์ใน Acta Astronautica Vol.181 April 2021
โดยทีมผู้ศึกษาได้สำรวจจากรายงานทั้งการเปลี่ยนแปลงอาการทางอารมณ์ อาการทางกาย (physical complaints) ดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ (biomarker) ของความเครียด หรือสัญญาณของความเครียด อาทิ ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งเป็น ‘ฮอร์โมนแห่งความเครียด’ รวมทั้งการใช้วิธีการควบคุมอารมณ์ตัวเอง (emotion regulation) ที่หลากหลายในการเพิ่มหรือลดอารมณ์บางประเภทของตัวนักบินอวกาศเอง โดยการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ด้านลบจะแตกต่างกันไปตามเวลาและสามารถคาดการณ์ได้จากอาการทางกาย
ขณะที่ งานวิจัยที่ศึกษาอวกาศและสภาพแวดล้อมแถบขั้วโลกที่ผ่านมานั้น มักศึกษาเฉพาะอารมณ์ด้านลบเป็นหลัก เช่น ความกระวนกระวายใจ ความเครียด เป็นต้น อันเป็นผลมาจากการมีหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนและปัจจัยตามแต่ละสถานการณ์ แต่การศึกษาชิ้นนี้ยังชี้ว่าการลดลงของอารมณ์ด้านบวกเป็นสิ่งที่หลายคนเผชิญเหมือนกันในสภาพแวดล้อมแบบ ICE และลดลงเรื่อย ๆ โดยเปรียบเทียบตั้งแต่เริ่มต้นภารกิจจนถึงช่วงสุดท้ายของภารกิจ ดังนั้น มาตรการที่มุ่งเสริมสร้างอารมณ์ด้านบวก ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมความพึงพอใจและความกระตือรือร้น ด้วยการฝึกให้ดื่มด่ำ ขอบคุณ และเปลี่ยนความคิดต่อสถานการณ์ที่ตนเผชิญ จึงสำคัญในการลดความเสี่ยงด้านจิตวิทยา (psychological risk) เพราะสามารถช่วยให้อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความกดดันสูง
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG3 (3.4) การสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
แหล่งที่มา:
https://uh.edu/news-events/stories/2021/april-2021/04202021-candice-alfano-astronaut-antarctica-mental-health.php
Last Updated on เมษายน 21, 2021