จะยุติความยากจนอย่างไรภายในปี 2573 เมื่อเกิดใน ‘รัฐที่เปราะบาง’ ก็มีโอกาสยากจนขั้นรุนแรงแล้ว 50%

World Poverty Clock โดย World Data Lab คาดการณ์ว่า ภายในอีก 1 ปี (2565) มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ทั่วโลก กระจุกตัวอยู่ใน ‘รัฐที่เปราะบาง’ (fragile state) ทาง ‘สถาบันและสังคม’ ในระดับสูงที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง (นิยาม World Bank) ซึ่งมีอยู่ 39 ประเทศในปัจจุบัน และแม้ภายในปี 2573 (2030) หลาย ๆ ‘รัฐที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพ’ 78% ของโลกจะเดินหน้าบรรลุ #SDG1 ยุติความยากจนขั้นรุนแรงได้สำเร็จ แต่จะมีประชากรที่ 359 ล้านคน หรือ 2 ใน 3 ของประชากรในรัฐที่เปราะบางมีความยากจนขั้นรุนแรงมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกา และคาดว่าจะมีเพียงครึ่งหนึ่งของกลุ่มรัฐที่เปราะบางที่สามารถบรรเทาความยากจนขั้นรุนแรงลงได้ในช่วง 10 ปีนี้ (2563 – 2573) ทำให้การยุติความยากจนขั้นรุนแรงระดับโลกจะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของ ‘รัฐที่เปราะบาง’ ในแอฟริกาเป็นหลักด้วย

ภาพจาก: World Data Lab

ข้อมูลปัจจุบัน (2563) ชี้ว่า ในจำนวน 10 ประเทศที่มีคนยากจนขั้นรุนแรง มีอยู่ 4 ประเทศที่เป็นรัฐที่เปราะบาง ได้แก่ ไนจีเรีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo – DRC) โมซัมบิก และเยเมน และคาดว่าภายในปี 2573 ในจำนวน 10 ประเทศที่มีคนยากจนขั้นรุนแรง จะอยู่ในรัฐที่เปราะบางเพิ่มมากขึ้น จาก 4 เป็น 5 ประเทศ โดยไนจีเรีย และ DRC เป็น 2 อันดับแรกที่คนยากจนขั้นรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นจาก 152 ล้านคน เป็น 178 ล้านคน มากกว่าตัวเลขของรัฐที่เปราะบางอื่น ๆ รวมกัน ตามมาด้วย เยเมน อัฟกานิสถาน และซูดานใต้ ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่เผยแพร่ใน ‘Poverty and fragility: Where will the poor live in 2030?’ ระบุว่าประเทศเวเนซูเอลาที่ถูกจัดกลุ่มเป็น ‘รัฐที่เปราะบาง’ อาจมีจำนวนประชากรอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงอันดับต้น ๆ ในปี 2573 ด้วย แต่จำเป็นต้องรอข้อมูลสนับสนุนการวิเคราะห์เพิ่มเติม

นอกจากไนจีเรีย และ DRC แล้ว หากสำรวจพื้นที่ที่คนยากจนขั้นรุนแรงอาศัยอยู่จะพบว่าภายในปี 2573 จะมีคนยากจนขั้นรุนแรง 147 ล้านคน หรือ 26% ของคนยากจนขั้นรุนแรงทั้งหมดในโลก กระจุกอยู่ใน 7 ประเทศที่ถูกจัดกลุ่มเป็นรัฐที่เปราะบางบริเวณเขตภูมิภาคซาเฮล (Sahel Region) ของแอฟริกาเหนือ ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ ชาด มาลี ซูดาน เอริเทรีย และไนเจอร์ โดยภาพรวมนั้น ‘ไนจีเรีย’ ยังคงมีคนยากจนขั้นรุนแรงมากที่สุด (ที่มีความขัดแย้งและเปราะบางมาก) เป็นอันดับหนึ่งของแอฟริกา ตามมาด้วย DRC และประเทศในซาเฮลอย่าง ซูดาน (8 ล้าน) ชาด (7.7 ล้าน) และมาลี (6.9 ล้าน)

มากไปกว่านั้น รัฐที่เปราะบางเหล่านี้มักมีอัตราการเกิดสูงกว่ารัฐที่มั่นคง ทำให้ครึ่งหนึ่งของจำนวนคนยากจนขั้นรุนแรงเป็น ‘เด็ก’ และทันทีที่เด็กเกิดมาก็มีโอกาส 50% ที่จะตกอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงไปโดยอัตโนมัติ เฉกเช่นที่ครึ่งหนึ่งของประชากร 90 ล้านคนของไนจีเรียที่ยากจนขั้นรุนแรง เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (ข้อมูล 2564) ทั้งที่ หากเกิดในประเทศอื่น อาจมีโอกาสเติบโตในความยากจนขั้นรุนแรงเพียง 5% เท่านั้น

ซึ่งความเปราะบางเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตของคนในระยะยาว ดังนั้น จึงต้องอาศัย ‘การพัฒนาระยะยาว’ มากกว่าการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเท่านั้น และต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่สุด ในประเทศที่เปราะบางที่สุด เพื่อยุติกับดักความเปราะบาง (fragility trap) ของวงจรความขัดแย้งและความยากจน ยุติความยากจนไม่ให้ส่งต่อถึงคนรุ่นหลังได้อย่างยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG1 (1.1) ภายในปี 2573 ยุติความยากจนขั้นรุนแรงทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันวัดจากคนที่มีรายได้ดำรงชีพรายวันต่ำกว่า $1.25

แหล่งที่มา:

Last Updated on เมษายน 22, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น