SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา

ผ่านมา 5 ปีแล้ว สำหรับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของโลก แต่ในสถานการณ์ภาพรวมของการขับเคลื่อนในทุกระดับ พบว่าการขับเคลื่อนเป็นไปช้ากว่าที่วางแผนไว้และยังมีบางมิติที่สวนทางกับเป้าหมายอีกด้วย แน่นอนว่าโลกจะไม่สามารถบรรลุ SDGs ได้ภายในปี 2030 หากการดำเนินงานของแต่ละประเทศยังคงเป็นแบบที่เคยทำกันมา (Business-as-Usual)

การนำ SDGs ไปปฏิบัติและดำเนินการเพื่อบรรลุในแต่ละประเทศและแต่ละท้องถิ่นนั้น องค์การสหประชาชาติส่งเสริมให้มีการนำ SDGs ไปเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาแล้วปรับรายละเอียดให้เหมาะสมกับบริบท ความท้าทายและศักยภาพของตน ผ่านแนวปฏิบัติที่สำคัญ คือ

  • ในระดับชาติ คือ การ “Mainstreaming SDGs” หรือ การทำให้ SDGs กลายเป็นกระแสหลักในนโยบายขับเคลื่อนประเทศของรัฐ
  • ในระดับท้องถิ่น คือ การ “Localizing SDGs” หรือ การนำ SDGs ไปปฏิบัติในท้องถิ่น ทบทวนและวางแผนความยั่งยืนของพื้นที่

ซึ่งแนวปฏิบัติทั้งสองระดับมีความคล้ายคลึงกัน คือ ผู้เกี่ยวข้องผนวกเอา “เป้าหมาย (Goals) และเป้าหมายย่อย (Targets)” ของ SDGs เข้ามาอยู่ในแผนและนโยบายเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งการผนวกนั้นอาจเป็นเพิ่มประเด็นที่ไม่เคยคำนึงถึงเข้าไป หรือมีการปรับนโยบายที่เอาจส่งผลลบต่อการบรรลุ SDGs ออกไป ดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน และมีการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ

“เพราะทำเหมือนเดิมไม่มีทางสำเร็จ จึงต้องเปลี่ยนถึงระดับรากฐาน”

แนวคิดเรื่อง Mainstreaming และ Localizing SDGs เผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2015 หากเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ความล่าช้าที่น่ากังวลของการขับเคลื่อน SDGs ในปัจจุบันแล้ว นักวิชาการจำนวนหนึ่งเริ่มหาคำตอบเกี่ยวกับวิธีการเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินการแบบที่ทำมา (BAUs) ไปสู่การดำเนินการที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน (Transformative Change) เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ให้ได้มากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือ เอกสารของ Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก และคณะ “Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals” ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Sustainability ในปี 2019


Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals

—— Transformation : การเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน ——

Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals หรือ 6 ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGsยุทธศาสตร์ Transformation ของ Sachs และคณะ มีทั้งหมด 6 ด้าน โดยเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Accord) มีมาตรการสำคัญ (Key Interventions) คือต้องดำเนินการควบคู่กันทั้ง 6 ด้าน เพื่อทำให้เกิดผลผลิต/ผลลัพธ์ขั้นกลาง (Intermediate Output/Outcome) ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs อีกต่อหนึ่ง

ยุทธศาสตร์ ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย

  • ยุทธศาสตร์ 1 : การศึกษา เพศสภาพและความเหลื่อมล้ำ (Education, Gender and Inequality)

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์นี้คือหน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ครอบครัวและสังคม นโยบายที่เกี่ยวข้องครอบคลุมประเด็นเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การฝึกอาชีพและอุดมศึกษา กลไกการคุ้มครองทางสังคมและมาตรฐานแรงงาน และการวิจัยและพัฒนา

ผลลัพธ์ขั้นกลางที่คาดหวังคือการศึกษาที่ดีและทุนมนุษย์ที่พัฒนาขึ้น งานที่มีคุณค่าและรายได้ที่สนับสนุนกลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงนวัตกรรม อันเป็นผลจากนโยบายด้านการวิจัยและพัฒนา  

  • ยุทธศาสตร์ 2 : สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และประชากร (Health, Well-being and Demography)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์นี้คือหน่วยงานด้านสุขภาพ นโยบายที่เกี่ยวข้องครอบคลุมประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พฤติกรรมด้านสุขภาพและปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพและสุขภาวะ

ผลลัพธ์ขั้นกลางที่คาดหวังคือบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้  

  • ยุทธศาสตร์ 3 : การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Energy Decarbonization and Sustainable Industry)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์นี้คือหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างและอาคาร พลังงาน สิ่งแวดล้อม และการคมนาคม นโยบายที่เกี่ยวข้องครอบคลุมประเด็นการเข้าถึงพลังงานสะอาด การผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าและพลังงานเชื้อเพลิงที่ไม่ปล่อยคาร์บอน การลดมลภาวะ

ผลลัพธ์ขั้นกลางที่คาดหวังคือ การเข้าถึงพลังงานสำหรับทุกคน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน น้ำและอากาศที่สะอาด 

  • ยุทธศาสตร์ 4 : ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Food, Land, Water and Oceans)

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์นี้คือหน่วยงานด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม ประมงและทรัพยากรชายฝั่ง ป่าไม้ สุขภาพ ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ นโยบายที่เกี่ยวข้องครอบคลุมประเด็นระบบการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและปรับตัวได้ที่ผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสนับสนุนวิถีชีวิตของเกษตรกร การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและในน้ำรวมถึงการปกป้องป่า การส่งเสริมกฎกติกาที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อสุขภาพ การค้าและห่วงโซ่อุปทานที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการการใช้ที่ดินและน้ำอย่างบูรณาการ

ผลลัพธ์ขั้นกลางที่คาดหวังคือการใช้ที่ดิน มหาสมุทรและระบบอาหารที่ยั่งยืน  

  • ยุทธศาสตร์ 5 : เมืองและชุมชนยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องคือหน่วยงานด้านการคมนาคม การพัฒนาเมือง น้ำและสุขาภิบาล นโยบายที่เกี่ยวข้องครอบคลุมประเด็นการเข้าถึงน้ำ สุขาภิบาลและการจัดการของเสียของเมือง การเดินทางและระบบขนส่งที่ยั่งยืน ที่อยู่อาศัยที่มีความกระจุกตัวมากขึ้น การปรับตัวและการตั้งรับภัยพิบัติของเมือง

ผลลัพธ์ขั้นกลางที่คาดหวังคือ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริการด้านการคมนาคม น้ำและสุขาภิบาล และความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น 

  • ยุทธศาสตร์ 6 : การปฏิวัติเชิงดิจิทัลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Digital Revolution for Sustainable Development)

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์นี้คือหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นโยบายที่เกี่ยวข้องครอบคลุมประเด็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่เข้าถึงได้ทุกคน ความครอบคลุมและทักษะด้านดิจิทัล การปกป้องความเป็นส่วนตัว และการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลในการบรรลุ SDGs ทุกเป้าหมาย

ผลลัพธ์ขั้นกลางที่คาดหวังคือ โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ครอบคลุม มีคุณภาพ ในราคาที่จ่ายได้


หลักการ Leave No One Behind และ Circularity and Decoupling

—— Leave no one behind : การพัฒนาต้องครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง —
Circularity and Decoupling : เศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ——

ยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ต้องดำเนินการอยู่บนสองหลักการสำคัญ คือ หลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) และหลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity and Decoupling) กล่าวคึอ การดำเนินการใดใดตามยุทธศาสตร์เพื่อไปสู่ความยั่งยืนจะต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการทั้งสองนี้

ยุทธศาสตร์ Transformation ทั้ง 6 ด้าน ของ Sachs และคณะ (2019)

เงื่อนไข 7 ประการ เพื่อความสำเร็จของยุทธศาสตร์ทั้ง 6

เงื่อนไขที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านประสบความสำเร็จมีทั้งหมด 7 ประการ ประกอบด้วย

ประการที่ 1 ความเป็นไปได้ทางเทคนิค (Technical Feasibility)

แทบทุกยุทธศาสตร์จำเป็นต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ โดยยุทธศาสตร์เหล่านี้จำเป็นต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน

ประการที่ 2 พิจารณาและแก้ปัญหาความขัดกันของยุทธศาสตร์ (Address and Resolve Trade-Offs)

การดำเนินนโยบายทุกประการย่อมต้องเลือกและมีผลกระทบเกิดขึ้น การรับรู้ว่าเกิดผลกระทบละหาวิธีการรับมือและแก้ไขเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ยุทธศาสตร์เหล่านี้บรรลุได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ประการที่ 3 การระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Finance for Development)

การระดมทุนเพื่อการพัฒนาอาจมาจากทั้งแหล่งเงินทุนของภาครัฐ (เก็บภาษี) และภาคเอกชน (ระดมทุน บริจาค) นอกจากนี้ยังรวมถึงกลไกการระดมทุนประเภทอื่นๆ ด้วย

ประการที่ 4 การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่ (Development and Deployment of New Technology)

เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ หรือมีการพัฒนาความสามารถแล้วแต่ยังราคาสูงเกินไปหรือยังไม่แพร่หลาย ต้องมีการวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในอนาคตและทำให้แพร่หลายเพื่อบรรลุ SDGs ในระยะยาว

ประการที่ 5 ความสอดคล้องถึงนโยบาย (Policy Coherence) 

ความสอดคล้องเชิงนโยบายของหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันเพื่อการบรรลุ SDGs มีหลายมิติ ทั้งในแนวราบ (horizontal) – ระหว่างหน่วยงานในระดับเดียวกันแต่อยู่ต่างกระทรวง ในแนวดิ่ง (vertical) – ระหว่างระดับสูงสุดไปจนถึงระดับปฏิบัติการในหน่วยงานเดียวกัน และแบบข้ามเวลา (temporal) – จากปัจจุบันไปถึงอนาคต หากแก้ไขปัญหาความสอดคล้องเชิงโยบายได้ในทุกมิติก็จะทำให้การขับเคลื่อนมีความราบรื่นยิ่งขึ้น

ประการที่ 6 ความสอดคล้องเชิงสถาบัน (Institutional Coherence) 

ความสอดคล้องเชิงสถาบันคือความสอดคล้องกันของแรงจูงใจที่ระบบต่างๆ ส่งอิทธิพลและกำกับพฤติกรรมของผู้คนในระบบ ซึ่งระบบเหล่านี้หมายรวมถึงแรงจูงใจที่เป็นผลมาจากนโยบายในข้อก่อนหน้านี้ หากกฎกติกาและโครงสร้างแรงจูงใจทั้งหมดสื่อไปในทางที่ทำให้ทางเลือกที่ยั่งยืนมีผลดีและต้นทุนต่ำ ผู้คนในสังผลก็จะมีมีพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ง่ายขึ้น

ประการที่ 7 การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและการอภิปรายสาธารณะ (Civil-Society Engagement and Public debate) 

การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมจะช่วยทำให้การดำเนินการของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปรายช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสของการดำเนินนโยบายของภาครัฐและภาคเอกชน


จุดคานงัดที่สำคัญในการขับเคลื่อน 4 ประการ

 Leverage Point : จุดคานงัดในการแก้ปัญหา คือจุดที่ใช้แรงน้อยที่สุดแต่ได้ผลลัพธ์สูงสุด ——

ในทางปฏิบัติมีการดำเนินงาน 4 ประการที่ จะเป็นจุดคานงัดสำคัญของการขับเคลื่อน ประกอบด้วย

ประการที่ 1 การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จำเป็นอย่างยิ่งที่ภารกิจการพัฒนาและออกแบบเทคโนโลยีจะต้องพัฒนาโดยมีเป้าหมายเป็นฐาน (Goal-based Design and Technology Mission)

ประการที่ 2 การดำเนินงานของภาครัฐและงบประมาณ จะต้องปรับจากการทำงานแบบแยกส่วนมาเป็นการทำงานแบบบูรณาการโดยมีเป้าหมายเป็นตัวตั้งแล้วจัดกระบวนงาน รูปแบบองค์กร กระบวนการงบประมาณให้สอดคล้อง (Goal-based Organisation of Government and Financing)

ประการที่ 3 การดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานสังคมและพฤติกรรม (Social activism to change norms and behavior) ในส่วนนี้เป็นการดำเนินงานเพื่อปรับพฤติกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของคนหมู่มากให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานเรื่องความยั่งยืน

ประการที่ 4 ความร่วมมือระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ทางการทูตเพื่อสันติภาพ การระดมทุนและความร่วมมือในการพัฒนา (Diplomacy and international corporation for peace, finance and partnerships) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาขนาดเล็กที่เป็นหมู่เกาะ


วาระการขับเคลื่อนสำหรับภาคความรู้ (Action Agenda For Science) 

ผู้เขียนและคณะได้กล่าวถึงวาระการขับเคลื่อนสำหรับภาคความรู้ (Action Agenda For Science) โดยมีวาระการขับเคลื่อนที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

  • วาระแรก การเพิ่มศักยภาพเพื่อการออกแบบการเปลี่ยนผ่าน (Capacity For Designing Transformation)  หมายถึงการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักสังคมศาสตร์กับคนทำงานสายปฏิบัติเช่นวิศวกรหรือนักนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดการนำเอาความรู้จากการวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาทางเทคนิคหรือแก้ปัญหาเชิงนโยบาย
  • วาระที่สอง การมีเกณฑ์เปรียบเทียบที่มีเวลากำกับ (Time-bound Benchmark) คือมีแผนระยะยาวในการพัฒนาเทคโนโลยีโดยแบ่งเป็นระยะ เพื่อให้การพัฒนาองค์ความรู้มีความต่อเนื่องและมีการประเมินทุกระยะ
  • วาระที่สาม คือ การทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและออกแบบแนวทางการพัฒนาร่วมกัน (Stakeholder Engagement and Co-design) การขับเคลื่อนความรู้จะเป็นแบบจากบนลงล่างอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องผนวกการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปด้วย เพื่อระบุข้อบกพร่อง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และกระตุ้นความตระหนักของภาคส่วนเหล่านั้น
  • วาระที่สี่ คือ การติดตามและประเมินผลนโยบาย (Policy Tracking, Monitoring And Evaluation) นักวิชาการต้องมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลนโยบายอย่างอิสระ ภาคนโยบายจำเป็นต้องเปิดให้นักวิชาการเข้าถึงข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และสร้างพื้นที่ให้เกิดการปรึกษาหารือเชิงนโยบาย

การทบทวนวรรณกรรม Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals โดย Sachs และคณะ เป็นส่วนหนึ่งของ Discussion Paper "มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน: ความท้าทายและโอกาสในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย - Moving Towards Transformative Change: Challenges and Opportunities of SDG Implementation in Thailand" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move สามารถติดตาม Discussion Paper ฉบับเต็มทางศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) และ SDG Move ได้เร็วๆ นี้

Last Updated on พฤษภาคม 4, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น