Ocean Rainforest ผู้บุกเบิกฟาร์มสาหร่ายทะเลในหมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands) และรัฐแคลิฟอร์เนีย กับวิสัยทัศน์การสร้าง ‘ป่าฝนใต้ท้องทะเล’ ประจำท้องถิ่นทั่วโลก มุ่งหน้าฟื้นฟูอุตสากรรมการเพาะเลี้ยงพืชน้ำด้วยการทำวิจัยและผลิตสาหร่ายถึง 3 สายพันธุ์ ที่ปัจจุบันเทรนด์โลกก็มองว่าเป็นหนึ่งในวิธีการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (mitigation) ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพราะช่วยเพิ่มชีวมวล (biomass) จากท้องทะเล ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนในน้ำ บำบัดสารอาหารหรือสิ่งปฏิกูล (bioremediate) จากฟาร์มพืชและสัตว์น้ำ และนอกจากสาหร่ายจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนแล้ว ยังเป็นอาหารเลี้ยงหมูชั้นดีที่ช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทนในภาคปศุสัตว์ที่ทำให้โลกร้อนด้วย
ซึ่งเมื่อปี 2563 Ocean Rainforest สามารถผลิตสาหร่ายทะเลได้ในปริมาณ 80 ตัน โดยคาดว่าจะสามารถผลิตสาหร่ายได้กว่า 250 ตันในปี 2564 1,000 ตันในปี 2565 และภายในปี 2573 จะสามารถผลิตสาหร่ายได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปี เพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกในวันที่ (คาดว่า) โลกจะหันมาใช้สาหร่ายเป็นวัตถุเจือปนในอาหาร อาหารสำหรับคน และอาหารเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น
สำหรับปีนี้ 80% ของสาหร่ายทะเลจำนวน 250 ตันจะถูกนำไปหมักก่อนจะขายให้กับผู้ผลิตอาหารใช้เลี้ยงหมูชาวเดนมาร์ก ซึ่งในตอนนี้ อาหารใช้เลี้ยงหมูที่ทำมาจากสาหร่ายนั้นกำลังเป็นที่แพร่หลายและขายได้ดิบดีในเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ และในปีเดียวกันนี้ ยังมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังสเปน อิตาลี และโปแลนด์ด้วย และอาจจะพิจารณาสร้างหุ้นส่วนท้องถิ่นในซีกโลกใต้อย่างชิลี แอฟริกาใต้ และนิวซีแลนด์ต่อ ๆ ไป รวมถึงพื้นที่รอบ ๆ อาร์กติกอย่างนอร์เวย์ สกอตแลนด์ ไอร์แลน อ่าวเมน (Gulf of Maine) และอะแลสกาที่มีอุณหภูมิท้องทะเลที่เหมาะสมและอุดมไปด้วยสารอาหาร อย่างไรก็ดี Ocean Rainforest จะต้องหาผู้ร่วมลงทุนทางธุรกิจเพื่อให้สามารถขยายพื้นที่การทำฟาร์มสาหร่ายได้สำเร็จ เช่นที่เมื่อปี 2563 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ก็ได้เป็นผู้ร่วมลงทุนขยายพื้นที่การทำฟาร์มสาหร่ายกับ Ocean Rainforest ด้วย
นอกจากนี้ การนำสาหร่ายมาเป็นส่วนผสม 2-3 % ของอาหารที่ใช้เลี้ยงหมูยังเป็นประโยชน์เชิงธุรกิจต่อเจ้าของการปศุสัตว์ เพราะช่วยลด ‘ปริมาณอาหาร’ ที่จะใช้เลี้ยงหมู และสาหร่าย ‘หมัก’ ยังมีโปรไบโอติกที่ดีต่อระบบย่อยอาหารของหมู สุขภาพของแม่หมูโดยรวมดีขึ้น และสุขภาพของลูกหมูจะมีภูมิต้านทานมากขึ้นที่ 30-40% ลดอัตราการตายได้ 3-4% ทำให้สามารถผลิตหมูที่แข็งแรงได้มากขึ้น และช่วยลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนไปด้วยในเวลาเดียวกัน ส่วนในมุมของผู้บริโภคนั้น ย่อมยอมรับและสนับสนุนกระบวนการผลิตอาหาร (เนื้อหมู) ที่มีความยั่งยืนดังกล่าว เพราะได้คำนึงถึงการลงมือจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการสร้างสมดุลที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG2 อาหารที่มีโภชนาการและเกษตรกรรมที่ยั่งยืน #SDG3 สุขภาพที่ดี #SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน #SDG13 จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ #SDG14 การฟื้นฟู เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์และผลิตภาพของท้องทะเล และ #SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา: https://thefishsite.com/articles/restorative-aquaculture-ocean-rainforest
Last Updated on เมษายน 23, 2021