บทเรียนการดำเนินการเพื่อลดอันตรายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากสามประเทศในยุโรป

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป (WHO European Region) (WHO European Region) สูงที่สุดในโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1 ล้านคนในแต่ละปี หรือประมาณ 2,500 คนต่อวัน และสัมพันธ์กับการบาดเจ็บและการเกิดโรคร้ายกว่า 200 ชนิด ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชาชน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็ง

นโยบายที่มีความคุ้มทุน (Best-Buy Policies) : มีประสิทธิภาพ แต่ใช้น้อย

องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป เสนอ 3 กลยุทธ์มาตรการที่มีความคุ้มทุน คือ จ่ายได้ เป็นไปได้ และคุ้มค่า เพื่อลดอันตรายจากการบริโภคแอลกอฮอล์ ได้แก่

  • เพิ่มภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกฎหมายและบังคับใช้การแบนหรือข้อจำกัดที่ครอบคลุมในการเปิดรับโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกฎหมายและบังคับใช้ข้อจำกัดทางกายภาพต่อการเข้าถึงการขายปลีกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

มาตรการเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย แต่บางประเทศในภูมิภาคยุโรปก็ได้ดำเนินนโยบายที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดลดอันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากแอลกอฮอล์ได้สำเร็จ โดยมีตัวอย่างการดำเนินการจากประเทศ ดังต่อไปนี้

ลิทัวเนีย: ดำเนินการอย่างรวดเร็วและครอบคลุม

  • ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ลิทัวเนียเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคยุโรปที่มีระดับการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัวสูงสุด (levels of alcohol consumption per capita)
  • ปฏิบัติการชุดแรก ปี 2008–2009 และ 2014 ได้แก่ ข้อจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั๊มน้ำมันและตู้ kiosk
  • ปฏิบัติการชุดที่สอง ปี 2016 ได้แก่ ปรับขึ้นอายุขั้นต่ำในการดื่มอย่างถูกกฎหมาย ปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจำกัดเวลาจำหน่ายปลีกและห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ในปี 2016 ลิทัวเนียลดจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการเสียชีวิตก่อนวันอันควรที่มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ (alcohol-attributable years of life lost) ลงไปได้ 20% เมื่อเทียบกับปี 2010

สกอตแลนด์: เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

  • ในปี 2009 สกอตแลนด์ออกมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 41 มาตรการ ตั้งแต่การห้ามลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อซื้อจำนวนมากในร้านค้าปลีก (off-trade) ไปจนถึงการให้คำปรึกษาแบบสั้นสำหรับผู้มีปัญหาจากการดื่ม (alcohol brief interventions)
  • ในปีแรกหลังบังคับใช้มาตราการต่างๆ ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสกอตแลนด์ลดต่ำสุดในรอบ 25 ปี และการเสียชีวิตอันมีสาเหตุมาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ลดลง 10%

รัสเซีย: ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมจากการต่อสู้ที่ยาวนาน

  • ต้นทศวรรษ 2000 รัสเซียออกกฎหมายที่ลดจำนวนผู้ผลิตรายย่อยลงจำนวนมาก ทำให้ขนาดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปลอม (counterfeit alcohol) ก็เล็กลงอย่างมากด้วย
  • ปี 2006 ออกระบบติดตามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละขวด ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่โรงงานจนถึงปลายทางการขาย เพื่อจัดเก็บภาษีและควบคุมตลาดแอลกอฮอล์
  • ปลายทศวรรษ 2000 นโยบายของรัสเซียหันมาสนใจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่ม โดยใช้มาตรการ เช่น การเพิ่มภาษีสรรพสามิตแอลกอฮอล์ และการขึ้นราคาขั้นต่ำสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิด
  • มาตรการทั้งหมดนี้ทำให้การบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัวลดลง 43% ในรัสเซียในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่าระดับการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัวในประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรปลดลง 12.5% จากปริมาณ 11.2 ลิตรในปี 2010 เป็น 9.8 ลิตรในปี 2016 มาตการต่างๆ ที่ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงนั้นมีประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และเศรษฐกิจของประเทศ

ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น การเสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์ (3.5)

ที่มา: WHO/Europe

Last Updated on เมษายน 23, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น