ถ้าทำแบบเดิมมันไม่ทันกาล เราควรทำแบบไหนจึงจะบรรลุ SDGs ได้ทันปี 2030
หลังจากตอนที่แล้วเราได้นำเสนอว่า ถ้าทุกประเทศยังลงมือขับเคลื่อน SDGs ด้วยวิธีแบบเดิมที่เคยทำมา (Business-as-Usual) จะไม่สามารถบรรลุ SDGs ได้ทันปี 2030 จึงมีการเสนอให้ใช้ ‘การเปลี่ยนระดับฐานราก หรือ Transformative Change’
มีนักวิชาการพยายามเสนอวิธีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน (Transformative Change) มากมายแต่มีหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจและสามารถนำไปใช้ได้จริงคือ “Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals” โดย Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก ที่เสนอยุทธศาสตร์ 6 ด้านบนความตั้งใจว่า ต้องการให้โลกบรรลุเป้าหมายทั้งความตกลงปารีส เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และ SDGs ไปพร้อม ๆ กัน
ความน่าสนใจของยุทธศาสตร์นี้คือ มีความชัดเจนว่าอยากให้โลกหยุดความรุนแรงของ Climate Change ให้ได้ แต่ก็ไม่ได้ละเลยที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของมนุษย์โลกทั้งยังผนวกเอาหลักการพัฒนาที่ครอบคลุมที่เป็นหัวใจสำคัญของ SDGs และหลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity and Decoupling) เข้ามารวมด้วย ที่สำคัญจำนวนยุทธศาสตร์ที่น้อยข้อยังเข้ามาแก้จุดอ่อนของ SDGs ที่บางเป้าหมายอาจดูละเอียดซับซ้อนกว่ามาก กาารจัดหมวหมู่ใหม่ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้คนทำงานโฟกัสประเด็นได้ง่ายขึ้น
ยุทธศาสตร์ 6 ด้านที่ต้องโฟกัสตามข้อเสนอของ Sachs ได้แก่
- ยุทธศาสตร์ 1 : การศึกษา เพศสภาพและความเหลื่อมล้ำ (Education, Gender and Inequality)
- ยุทธศาสตร์ 2 : สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และประชากร (Health, Well-being and Demography)
- ยุทธศาสตร์ 3 : การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Energy Decarbonization and Sustainable Industry)
- ยุทธศาสตร์ 4 : ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Food, Land, Water and Oceans)
- ยุทธศาสตร์ 5 : เมืองและชุมชนยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
- ยุทธศาสตร์ 6 : การปฏิวัติเชิงดิจิทัลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Digital Revolution for Sustainable Development)
แล้วคนธรรมดาแบบเราจะ Transformation ได้หรือเปล่า?
แน่นอนว่าเครื่องมือเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนกำหนดหรือคิดนโยบายได้ใช้เป็นหลัก
อาจดูซับซ้อนและใช้คำศัพท์ยาก ๆ ไปบ้าง แต่คนธรรมดาแบบเราก็ใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ 6 ด้านนี้ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการนำไปเป็นกรอบชี้แนวทางว่างานที่เราทำ หรือองค์กรของเรา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน กิจการส่วนตัว ก็มีส่วนช่วยให้การเปลี่ยนแปบงในระดับฐานรากเกิดขึ้นได้ ด้วยการคำนึงถึง 6 ด้านนี้ในทุกกระบวนการทำงานของเรา เช่น
เราจะกำหนดให้บริษัทปฏิบัติกับพนักงานทุกคึนอย่างเท่าเทียมกันทุกเพศ ลดงานที่ใช้กระดาษมากโดยไม่จำเป็น เลือกใช้อุปกรณ์สำนักงาน/ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ ไม่ได้ผลิตจากการใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าหลายองค์กรรวมถึงกิจการส่วนตัวก็เริ่มลงมือทำมากขึ้นแล้ว แต่หากยังไม่ได้ทำ หรือมองว่ายังต้องทำเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ข้อนี้ จะช่วยตอบเราว่าควรทำอะไรดี พูดง่าย ๆ คือ
ถ้านึกอะไรไม่ออก ลองทำตาม 6 ด้านนี้ก็ดีมากแล้ว!!
SDG 101 เนื้อหารูปแบบใหม่ที่อยากหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าแบบย่อยง่ายให้คุณรู้จัก SDGs ในมุมที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sdgmove.com/category/sdg-101/