ASEAN Gender Outlook: Achieving the SDGs for All and Leaving No Woman and Girl Behind คือ รายงานระดับภูมิภาคฉบับสำคัญที่จัดทำโดย คณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี (ASEAN Committee on Women : ACW) สํานักงานเลขาธิการอาเซียน และ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) โดยข้อมูลจากรายงานแสดงให้เห็นความจำเป็นในการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้หญิงและเด็กหญิงที่เปราะบาง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
การศึกษาที่มอง SDGs ผ่านเลนส์เรื่องเพศฉบับนี้พบว่า ลักษณะส่วนบุคคลของผู้หญิงมักทำให้พวกเธอตกเป็นเป้าของการเลือกปฏิบัติ ทั้งจาก การมีภูมิหลังมาจากกลุ่มชาติพันธ์ การอาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล หรืออยู่ในความยากจน เมื่อมีการเลือกปฏิบัติสองรูปแบบหรือมากกว่าซ้อนทับกัน อุปสรรคที่ผู้หญิงต้องเผชิญจะยิ่งมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงจากกลุ่มชาติพันธุ์อาจเผชิญกับการเลือกปฏิบัติเนื่องจากภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ซึ่งอาจเพิ่มอุปสรรคในการเข้าถึงบริการการศึกษาหรือการหางาน และพวกเธอจะต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นผู้หญิงด้วย สิ่งนี้ทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับข้อเสียเปรียบในหลายมิติพร้อมกันกลายเป็นผู้ที่อยู่ห่างไกลที่สุดจากการบรรลุ SDGs
รายงานเสริมว่า การเสริมพลังให้ผู้หญิงและเด็กหญิงต้องการการสนับสนุนมากกว่าแค่ SDG 5 ในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ แม้ว่าบางประเทศในอาเซียนจะมีอัตราการมีตัวแทนเพศหญิงในรัฐสภาและในตำแหน่งผู้บริหารสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่หลักฐานยังแสดงให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุ SDGs อื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจผ่านมุมมองด้านเพศ เช่น SDG 6 และ SDG 7 ด้านน้ำและพลังงาน และ SDG 11 ถึง SDG 15 ในเรื่องเมือง สภาพภูมิอากาศ มหาสมุทรและทรัพยากรธรรมชาติ
การระบาดของโควิด-19 ทำให้การดำเนินการเพื่อทลายอุปสรรคที่ผู้หญิงต้องเจอเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น แม้ผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดส่วนใหญ่เป็นเพศชาย แต่จากการวัดผลกระทบด้านอื่นๆ รายงานพบว่าโควิด-19 สร้างความเสียหายกับผู้หญิงมากกว่า เนื่องจากแรงงานผู้หญิงต้องสูญเสียอาชีพมากกว่า ต้องรับภาระงานบ้านเพิ่มขึ้น และต้องเจ็บป่วยจากความทรุดโทรมทั้งด้านสุขภาพจิตและสุขภาพในขณะที่มักไม่สามารถเข้าถึงการดูและและบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นได้ นอกจากนั้น ผู้หญิงยังเป็นศูนย์กลางของกระบวนการฟื้นฟูจากโรคระบาด และความเป็นผู้นำของผู้หญิงจะเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวไปสู่การบรรลุ SDGs อย่างถ้วนหน้า
ความเท่าเทียมทางเพศ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ
ที่มา: ASEAN
Last Updated on เมษายน 25, 2021