รัฐบาลมาเลเซียออกตราสาร ‘ศุกูก (Sukuk) หรือตราสารหนี้อิสลาม เพื่อความยั่งยืนในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกของโลก โดยออกตราสารหนี้มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์อายุ 10 ปี ที่มีอัตราผลตอบแทนที่ 2.07% และรัฐบาลยังออกตราสารหนี้อายุ 30 ปี ที่มีอัตราผลตอบแทนที่ 3.075% เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งตราสารศุกูกที่ออกขายให้ผู้ลงทุนจะอยู่ในรูปแบบของใบทรัสต์ (Trust Certificate)
มาเลเซียเป็นผู้นําการออกตราสารศุกูกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตราสาร ‘ศุกูก’ เพื่อความยั่งยืนได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก รัฐบาลได้ปรับขึ้นวงเงินเริ่มต้นจากเดิมที่ 1.0 พันล้านดอลลาร์เป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากมีความต้องการซื้อตราสารหนี้ล้นหลามกว่า 6.4 เท่า จากที่กำหนดไว้
รายได้จากการขายตราสารหนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการทางสังคมและโครงการสีเขียวที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ (SDG 3) การขนส่งที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม (SDG 11) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (SDG 15) พลังงานหมุนเวียน (SDG 7) และอาคารสีเขียว (SDG 9 และ SDG 11)
กรอบความยั่งยืนของรัฐบาลมาเลเชียได้รับการประเมินโดย ESG research and ratings company Sustainalytics และพบว่าสอดคล้องกับองค์ประกอบหลัก 4 ประการของการออกตราสารหนี้ ตามหลักการตราสารนี้เพื่อพัฒนาสังคม ปี 2020 (Social Bond Principles: SBP) หลักการตราสารนี้สีเขียว ปี 2018 (Green Bond Principles: GBP) และมาตรฐานการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนอาเซียน ปี 2018 (ASEAN Sustainability Bond Standards: ASEAN SUS).
ในตลาดตราสารศุกูกเพื่อความยั่งยืนและตราสารศุกูกเพื่อสิ่งแวดล้อม อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกที่ออกศุกูกสีเขียวในในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
การออกตราสารเพื่อความยั่งยืน นอกจากจะตอบโจทย์การนำเงินไปใช้ในโครงการเพื่อความยั่งยืน ยังเกี่ยวข้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเด็น เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ ของรัฐ (17.1)
ที่มา : Salaam Gateway