โครงการโคแวกซ์ (COVAX) มีแผนจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้ประเทศที่ยากจน แต่ว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่มีระบบไฟฟ้าที่เสถียรมากพอสำหรับตู้เย็นเก็บวัคซีน ทำให้การกระจายวัคซีนล่าช้าขึ้นไปอีก
อุณหภูมิจัดเก็บวัคซีนส่วนใหญ่อยู่ที่ระหว่าง 2°C และ 8°C ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเก็บวัคซีนโปลิโอและโรคหัดเช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19 ของ Johnson & Johnson และ AstraZeneca-Oxford แต่วัคซีนยี่ห้ออื่นนั้นยากต่อการเก็บรักษามากกว่า เช่น วัคซีนโควิด-19 จาก Moderna ต้องเก็บในที่อุณหภูมิระหว่าง -25° C ถึง -15° และ วัคซีนของ Pfizer-BioNTech ต้องเก็บในที่อุณหภูมิ -70°C แต่สามารถเก็บไว้ในที่อุณหภูมิระหว่าง -25°C ถึง -15°C ได้นานถึงสองสัปดาห์
การเก็บวัคซีนให้อยู่ในอุณหภูมิความเย็นที่กำหนดกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือระบบไฟฟ้าไม่มีความเสถียร การศึกษาในปี 2013 ที่ครอบคลุม 11 ประเทศในทวีปแอฟริกาพบว่ามีคลินิกและโรงพยาบาลเพียง 28% เท่านั้นที่มีแหล่งไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ และอีก 26% ไม่มีไฟฟ้าใช้เลย
ระบบไฟฟ้าที่พึ่งพาไม่ได้นี้ทำให้แต่ละปี เกือบ 50% ของวัคซีนชนิดผงแห้ง (freeze-dried vaccine) และ 25% ของวัคซีนชนิดสารเหลว (liquid vaccine) เสียหายจนใช้งานไม่ได้เนื่องจากระบบห่วงโซ่ความเย็นในขณะจัดเก็บและขนส่งวัคซีนไม่ได้คุณภาพ
ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับห่วงโซ่ความเย็นของวัคซีนและบริการด้านสุขภาพอื่นๆ ที่จำเป็นในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายพื้นที่จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งสามารถปรับตั้งค่าได้เองตามเหมาะสม กลายเป็นโซลูชั่นที่นำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วในสถานบริการสุขภาพ และเป็นแหล่งพลังงานที่มีความเสถียรกว่าระบบโครงข่ายไฟฟ้า (grid) ในพื้นที่
พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้นั้นนำมาใช้กับการรักษาอุณหภูมิในตู้แช่เย็นเพื่อเก็บวัคซีน ตู้เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีแบตเตอรี่สำรองพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ในภายหลัง มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะสามารถใช้พลังงานที่สำรองไว้ได้ในวันที่ไม่มีแดดหรือในวันที่ไฟดับ และยังมีตู้เย็นที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยตรงไม่มีแบตเตอรี่เพิ่มเติม (direct drive refrigerators) ที่สามารถทำผนังน้ำแข็งเพื่อคงความเย็นในตู้แช่ได้หลายวันแม้ไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ก็ตาม
ในปี 2020 องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (Gavi) ได้ส่งมอบตู้เย็นแบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์โดยตรงจำนวนมากในพื้นที่ชนบทในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนต่อเดือนใน 9 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของคองโกเพิ่มขึ้น 50% ในปีที่ผ่านมา และเพิ่มสัดส่วนการบริการด้านสุขภาพอนามัยของประเทศในปัจจุบันขึ้นอย่างมาก
เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ที่ช่วยให้ประเทศยากจนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) - SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็น (3.8) การวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน และการเข้าถึงยาและวัคซีนถ้วนหน้าผ่านการผ่อนปรนบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้คนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงยาได้ (3.b) - SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ในประเด็น การเข้าถึงพลังงาน (7.1) และโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการจัดส่งบริการพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา (7.b) - SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา: The Conversation
Last Updated on เมษายน 27, 2021