กีตาร์แบรนด์ Furch จากสาธารณรัฐเช็ก นำวงการดนตรี – ผลิตกีตาร์ – การใช้พลังงานถ่านหินเป็นหลักของสาธารณรัฐเช็ก ด้วยการปรับกระบวนการผลิตมาใช้พลังงานทดแทน 100% ที่ทิ้งรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ลดลง 2 ใน 3 มาตั้งแต่ปี 2563 ทั้งยังคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้ชิ้นส่วนไม้หายาก – สายพันธุ์เฉพาะที่ให้เสียงดีเป็นวัสดุ สอดคล้องกับข้อกำหนดของภาคีไม้เพื่อดนตรี (Music Wood Coalition) และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) พร้อมกับสนับสนุนการปลูกต้นไม้ทดแทนและเงินทุนให้กับชุมชนที่ทำป่าไม้ — แหล่งไม้ใช้ทำกีตาร์ ไปจนถึงว่าได้พยายามขยายหุ้นส่วนแนวคิดการผลิตกีตาร์อย่างยั่งยืนกับผู้ผลิตกีตาร์ด้วยกัน
กระบวนการผลิตกีตาร์ส่วนมากยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหินภายในโรงงาน จึงเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามว่าควรปรับและเปลี่ยนวิธีการผลิตให้ยั่งยืนมากขึ้นหรือไม่ ทั้งเรื่องแหล่งที่มา วัสดุที่ใช้ และการใช้พลังงาน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ
ทำให้นับแต่ปี 2563 ‘Petr Furch’ CEO ของกีตาร์แบรนด์ Furch จากสาธารณรัฐเช็ก ได้เริ่มกรุยทางเปลี่ยนโฉมหน้ากระบวนการผลิตที่ต่างออกไป ผันมาใช้พลังงานทดแทน 100% จากก๊าซชีวภาพ (biogas) และชีวมวล (biomass) บางประเภท ที่กระบวนการนี้สามารถลดการทิ้งรอยเท้าคาร์บอนลงได้ 2 ใน 3 จากเดิม โดยบนหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ กีตาร์แต่ละตัวจะระบุไว้ว่าหากผลิตก่อนปี 2563 จะทิ้งรอยเท้าคาร์บอนไว้ที่เท่าไร และเมื่อผลิดหลังปี 2563 แล้วสามารถลดการทิ้งรอยเท้าคาร์บอนได้เท่าไร ซึ่งส่วนมากสามารถลดลงได้ครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า ถือเป็นการชี้แจงให้ผู้บริโภคที่สนับสนุนสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืนได้ทราบกัน
ทั้งนี้ การผลิตด้วยพลังงานทดแทนยังเป็นก้าวสำคัญสำหรับสาธารณรัฐเช็กเอง เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้พลังงานในประเทศยังคงมาจากถ่านหิน แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้สาธารณรัฐเช็กประกาศว่าจะเดินหน้ายกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน ภายในปี 2038
นอกเหนือจากเรื่องการใช้พลังงานแล้ว แบรนด์กีตาร์ที่มีชื่อเสียงมักใช้ไม้หายาก – ไม้สายพันธุ์เฉพาะที่เป็น ‘ไม้เสียงดี’ สำหรับการผลิตกีตาร์ อาทิ Tonewoods ทว่าปัจจุบันกำลังเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องการอนุรักษ์สายพันธุ์ไม้หายาก ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตกีตาร์ถูกตั้งคำถามเรื่องผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ดังนั้น สำหรับผู้ผลิตจึงสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และคำแนะนำของภาคีไม้เพื่อดนตรี (Music Wood Coalition) และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ตามที่ระบุไว้ในรายการพันธุ์ไม้ใกล้สูญพันธุ์อันดับที่ 1 (CITES Appendix 1) และในเรื่องมาตรฐานสำหรับบริษัท เช่น บริษัทสามารถใช้ไม้ได้มากเท่าไร สามารถใช้พันธุ์ไม้ใดได้บ้าง และใช้จากแหล่งใด เป็นต้น หากยกตัวอย่างสำหรับผู้ผลิตกีตาร์ ก็จะเป็นกรณีที่ CITES ประกาศเมื่อปี 2560 ว่าการผลิต ขาย และเคลื่อนย้าย ‘ไม้ Rosewood’ ไม้ที่ให้เสียงดีและเป็นส่วนประกอบชิ้นสำคัญของกีตาร์ จะต้องได้รับการอนุญาติก่อน
ซึ่งกีตาร์แบรนด์ Furch เองก็ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้น ด้วยเหตุด้านจริยธรรมของการอนุรักษ์ไม้พันธุ์หายาก ในขณะเดียวกัน ได้เป็นหุ้นส่วนกับองค์กร Planting Empowerment สนับสนุนทางการเงินและทำงานร่วมกับชุมชนในปานามา เพื่อปลูกไม้หายากให้มีมากขึ้น และให้มีการอนุรักษ์ป่าไม้เมืองร้อนด้วย ไปจนถึงว่าได้พยายามขยายหุ้นส่วนแนวคิดการผลิตกีตาร์อย่างยั่งยืน ให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การใช้พลังงานและการใช้วัสดุไม้กับผู้ผลิตกีตาร์ด้วยกัน
กีตาร์แบรนด์ Furch เริ่มผลิตเมื่อช่วงปลายปี 1970 ขณะที่ยังคงเป็น ‘เช็กโกสะโลวาเกีย’ ก่อนที่จะเปิดร้านอย่างเป็นทางการในปี 1981 และขยายสาขาไปทั่วโลกภายหลังปี 1991
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 – (7.2) เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในการใช้พลังงานของโลก
#SDG12 – (12.2) การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงรอยเท้าวัสดุ (12.6) แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนในภาคเอกชน
#SDG15 – (15.2) การจัดการป่าไม้ ฟื้นฟูและเพิ่มการปลูกป่า (15.a) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์
#SDG17 – หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
https://news.mongabay.com/2021/04/some-guitar-makers-in-pursuit-of-sustainable-manufacturing/
Last Updated on เมษายน 28, 2021