นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซากา ร่วมกับศูนย์วิจัย JOANNEUM RESEARCH จากออสเตรียพัฒนาอุปกรณ์ตรวจเช็กสุขภาพรูปแบบใหม่ – ‘แผ่นแปะ’ แบบพกพา – ที่บรรจุอุปกรณ์ผลิตพลังงานขนาดเล็กเพียโซอิเล็กทริก (piezoelectric nanogenerators) ไว้ข้างใน เพียงแค่ผู้ใช้ติดแผ่นแปะนี้ไว้ที่ผิวหนัง หัวเข่า หรือข้อศอก มันก็จะตรวจเช็กสุขภาพทั่วไปของผู้สวมใส่ ไปพร้อมกับดึงพลังงานจากการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน (harvested biomechanical energy) เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ โดยที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่เลย
การศึกษาวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ใน Nature Communications ระบุรายละเอียดทางเทคนิคของการได้มาซึ่งแผ่นแปะสำหรับตรวจเช็กสุขภาพทั่วไปจากชีพจรและความดันโลหิต และพัฒนาการของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีสายเคเบิลหรือต้องชาร์จแบตเตอรี่ ไปสู่การดึงพลังงานของผู้ใช้เอง บวกกับการที่อุปกรณ์มีขนาดเล็ก บาง พกพาได้ และมีความแม่นยำ ทำให้ผู้ใช้-คนไข้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น โดยสามารถใช้งานได้ทุกวัน
ซึ่งก็ถือว่าเป็นพัฒนาการของระบบเซ็นเซอร์ตรวจเช็กสุขภาพในรูปแบบของแผ่นแปะแบบพกพา ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล สมาร์ท– และ e-health ที่ทางทีมผู้วิจัยเองได้สนับสนุนให้มีการนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้งานจริงทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองโรคที่เกี่ยวข้องกับวิถีการใช้ชีวิต (lifestyle-related diseases) อย่างโรคหัวใจ สัญญาณบ่งชี้ความเครียด ไปจนถึงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 โดยทั่วไปในเรื่องของการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และ (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ ป้องกันและรักษาสุขภาพจิต-ความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG9 (9.5) การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ และให้ภาคสาธารณะและเอกชนใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น
แหล่งที่มา:
https://www.theengineer.co.uk/new-health-monitoring-patch-uses-harvested-energy/