Site icon SDG Move

นักวิจัยค้นพบวิธีการใช้ ซังข้าวโพด ของเหลือจากภาคเกษตร เพื่อกรองสารพิษออกจากน้ำ

สหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดที่สำคัญของโลก โดยกินพื้นที่ 9 ล้านเอเคอร์ของประเทศเพื่อใช้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นข้าวโพดจึงไม่มีสารอาหารมากนัก หลังการเก็บเกี่ยวจึงเหลือเป็นขยะทางการเกษตรที่มักถูกกำจัดด้วยการเผาทิ้ง ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศตามมา

วิศวกรจาก University of Riverside ต้องการหาวิธีนำชีวมวล เช่น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้เป็นสินค้าใหม่ (Upcycling)โดยเน้นไปที่ ซังข้าวโพด จนสามารถพบวิธีการใช้ซังข้าวโพดกรองน้ำและบำบัดน้ำให้สะอาดได้ ด้วยการเผาซังข้าวโพดจนเป็นกลายเป็นถ่าน ที่จะกลายเป็น Activated Charcoal หรือ ถ่านกัมมันต์ ที่ปัจจุบันใช้ในการกรองและบำบัดน้ำอยู่แล้วเพราะมีรูพรุนขนาดเล็กหลายล้านรูที่สามารถดูดซับน้ำและกรองสารพิษออกจากน้ำได้

วิศวกรได้ทดลองการแปรรูปซังข้าวโพดเป็นถ่านกัมมันต์ด้วยหลายๆ วิธี และพบว่าถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (Biochar) ที่ได้มาจากกระบวนการทำให้เป็นถ่านด้วยความร้อนชื้น (Hydrothermal Carbonization) มีพื้นที่ผิวสูงและมีรูพรุนขนาดใหญ่จึงสามารถกรองมลพิษในปริมาณสูงได้ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการกรอง ผู้ค้นคว้าใส่สารวานิลลิน (Vanillin) ซึ่งเป็นมลพิษทางน้ำที่มาจากอุตสาหกรรมการผลิตวานิลลาลงในน้ำและกรองผ่านถ่านกัมมันต์ที่มาจากซังข้าวโพด พบว่าถ่านกัมมันต์สามารถดูดซับวานิลลินออกจากน้ำได้ถึง 98%

เศษอาหารบางส่วนถูกนำไปใช้ในการผลิตสินค้าอาหารใหม่ได้ บางส่วน เช่น ซังข้าวโพด ถูกนำไปใช้เพื่อผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างสินค้าอื่นๆ ที่มาจากขยะอาหาร เช่น การผลิตเส้นใยธรรมชาติเพื่อทำเสื้อผ้าจากเปลือกอ้อย ใบสับปะรด และก้านกัญชา หรือการเปลี่ยนน้ำมันเหลือทิ้งจากหม้อทอดใน McDonald ให้เป็นน้ำเรซินที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพื่อใช้กับงานพิมพ์ 3 มิติ

ในแต่ละปี สหรัฐอเมริกาปลูกข้าวโพดได้ประมาณ 366 ล้านตัน นั่นหมายถึงจำนวนเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตร เช่น ซังข้าวโพด ก็มีเป็นจำนวนมาก การค้นพบของห้องแล็บ UC Riverside เป็นตัวเลือกที่มีประโยชน์และเป็นประโยชน์สำหรับชีวมวลที่เหลือทิ้ง แต่ผู้ค้นคว้าไม่ได้ระบุว่ามีแผนที่จะนำการค้นพบนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือไม่

การนำขยะอาหารกลับมาใช้ใหม่เพื่อบำบัดน้ำให้สะอาด ลดการเผาไร่ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ในประเด็น การลดของเสียที่เป็นอาหาร (food waste) (12.3) และ ลดของเสียโดยกระบวนการ reuse และ recycle (12.5)
- SDG 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล ในประเด็น มลพิษทางน้ำและการบำบัดน้ำเสีย (6.3)
- SDG 13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2)

ที่มา: The Spoon

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version