สวัสดีทุกท่าน
สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่มีกิจกรรมของ SDG Move หลายอย่างที่เกิดขึ้น กิจกรรมสำคัญเป็นกิจกรรมภายใต้คือ โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน หรือเราเรียกชื่อเล่นว่า โครงการ Area-Needs โครงการนี้เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมมือกับทางศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และคณะทำงานระดับภาคทั้ง 6 ภาค ในการดำเนินการหาความต้องการเชิงพื้นที่และองค์ความรู้ที่จะตอบโจทย์ความต้องการนั้น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.) ของประเทศที่มีความตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่มากขึ้นต่อไป
โครงการนี้ผ่านขั้นตอนที่ 1 คือ การค้นหาและระบุความต้องการเชิงพื้นที่ระดับภาคมาแล้ว โดยเราประยุกต์กระบวนการ Foresight ที่ได้รับคำปรึกษาจาก ดร.ธันยพร สุนทรธรรม จาก วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการดำเนินการ เครื่องมือที่ใช้มี 2 เครื่องมือ เครื่องมือแรก คือ การทำ Horizon Scanning เพื่อสำรวจประเด็นและสัญญาณทางสังคมของแต่ละภาค โดยใช้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ส่วนนี้ดำเนินการโดยคณะทำงานภาคทั้ง 6 ภาค เครื่องมือที่สอง คือ การประยุกต์ใช้กระบวนการ Delphi (เดลฟาย) ซึ่งก็คือการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1 รอบผ่านแบบสอบถามเพื่อลดอิทธิพลทางความคิดของกันและกัน จนได้มาซึ่ง ประเด็นสำคัญของแต่ละภาคมา ซึ่งผลการศึกษาจะนำเสนอในเว็บไซต์ของ SDG Move ต่อไป
สัปดาห์ที่ผ่านมาเราเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นขั้นของจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญรายภาคเพื่อให้ได้มาซึ่งทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการภาคและองค์ความรู้ที่สนับสนุนทิศทางเหล่านั้น โดยประยุกต์อีกเครื่องมือคือ Backcasting (การมองไปในอนาคตแล้วย้อนกลับมาดูว่าจากจุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบันเราต้องทำอะไรต่อไปบ้าง) กับภาคกลาง (อังคาร – โดย ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุลและคณะ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พฤหัสบดี – โดย ดร.อนิรุทธิ์ ผงคลีและคณะ) และภาคใต้ตอนบน (อาทิตย์ – โดย รศ.ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาลัยและคณะ) หลังจากที่ได้จัดกับทางภาคใต้ชายแดนที่จังหวัดยะลา (โดย ผศ.ดร. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิงและคณะ) มาตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ เหมือนว่าโครงการเราจะดวงสมพงศ์กับ COVID-19 ยังไงชอบกล พอจะได้ฤกษ์เดินทางก็เกิดการระบาดอีก
SDG Move กับ สกสว. มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยที่ สกสว. ยังเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อยู่เดิม ตอนนั้นในปี 2016 ท่าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล เป็นรอง ผอ. สกว. และดูแลประเด็น SDGs ที่รัฐบาลเพิ่งรับมาจากองค์การสหประชาชาติในปี 2015. แล้วทาง สกว. ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะทำงานต่าง ๆ จึงได้มีการตั้ง หน่วยวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ลำดับที่ 14 (SRI unit no.14) ขึ้นในชื่อโครงการประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เนื่องจากชื่อมันยาว เราเลยคุยกันในทีมในขณะนั้น อ.จิว (อรรถเศรษฐ จริยธรรมานุกูล) ทีมงานหลักสมัยนั้น ได้เสนอชื่อ SDG Move ให้เป็นชื่อที่เราเรียกกัน และก็กลายมา Branding หลักขององค์กรในปัจจุบัน
SDG Move ทำงานเป็นหน่วยภายใต้ สกว. ตั้งแต่ปี 2016 – 2019 มีขึ้นมีลงตามปกติ ทำหน้าที่ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและการขับเคลื่อนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ช่วย สกว. ในการประกาศทุนวิจัย ซึ่งเราได้ประกาศไป 2 ประเด็นหลัก คือ (1) การสำรวจสถานการณ์ของเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย และ (2) การ Localizing SDGs หรือการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ นอกจากนี้เรายังทำงานเชิงเครือข่าย ในการเชื่อมประสานกับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ และสนับสนุนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย เราเลยถือโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ในการสื่อสารเรื่อง SDGs และการฝึกอบรมให้กับภาคส่วนต่าง ๆ และก็ทำหน้าที่นั้นมาตลอด อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เป็นวิทยากรให้กับการอบรม โครงงานนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับสูงรุ่นที่ 77 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การประยุกต์ SDGs กับภาคเกษตรไทย นอกจากนี้เรายังอยู่ระหว่างช่วงของการพัฒนาความร่วมมือกับ UNDP ในฝ่ายที่ทำงานกับเยาวชน ในการพัฒนาสื่อสำหรับการทำให้เยาวชนเข้าใจ SDGs และสามารถร่วมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วนได้อีกด้วย
ต้องยอมรับว่าการทำงานกับ สกว. ในฐานะของ SRI 14 ได้เปิดโอกาสให้ทีมเราได้สะสมทุนความรู้และเครือข่าย ซึ่งในปัจจุบันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยอย่างมากทีเดียว
จากนั้นในกลางปี 2019 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบวิจัยของประเทศซึ่งส่งผลกระทบกับ SDG Move อย่างมาก ในเวลาดังกล่าวมี การตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขึ้น ส่งผลให้ สกว. ได้ถูกปรับเป็น สกสว. โดยมีบทบาทเปลี่ยนแปลงจากหน่วยงานให้ทุนวิจัยรายโครงการ มาเป็นหน่วยงานที่กำกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและจัดสรรทุนวิจัยตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแทน ซึ่งทำให้บทบาททางการของ SDG Move ในฐานะหน่วยงานภายใต้ สกว. สิ้นสุดไปโดยปริยาย
SDG Move ได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) ในขณะนั้น ให้ทางทีม SDG Move เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ ก่อนที่ SDG Move จะได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน และเราเพิ่งมีการประชุม Kick Off ของนักวิจัยในศูนย์ ฯ ภายในคณะเศรษฐศาสตร์ไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้เอง
ตลอดการเดินทางมาจนเข้าปีที่ 6 ของ SDG Move นั้นมีการปรับเปลี่ยนภายในทีมและการจัดการภายในองค์กร รวมถึงเส้นทางการทำงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้คนมากมายทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจนถึงระดับนานาชาติ ซึ่งจะขอถือโอกาสกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ในโอกาสถัด ๆ ไป
ก่อนจากกันสัปดาห์นี้ SDG Move ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียจากการระบาด COVID-19 ในการระบาดรอบใหม่ และขอเป็นกำลังใจให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าในการรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพครับ