‘ความช่วยเหลือเพื่อการค้า’ (Aid-for-Trade) สำคัญมากขึ้นต่อประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด ให้ฟื้นจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 23 – 25 มีนาคม 2564 องค์การการค้าโลก (WTO) จัดการประชุมออนไลน์ครั้งสำคัญเรื่อง ‘Aid-for-Trade Stocktaking’ โดยมีกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และธนาคารโลก เข้าร่วม อภิปราย ‘ความช่วยเหลือเพื่อการค้า’ (Aid-for-Trade) ที่จำเป็นและสำคัญมากขึ้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ซึ่งได้รับผลกระทบมากจากสภาพการค้าโลกและโควิด-19 ที่การเคลื่อนย้ายและการสนับสนุนด้านการเงินจะช่วยให้ประเทศเหล่านี้ฟื้นฟู ให้กลับมาอย่างมีภูมิต้านทานและยั่งยืนได้

เป็นเวลากว่า 25 ปีที่ ‘การค้า’ ช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโต ผู้คนมีระดับรายได้สูงขึ้น และความยากจนลดลง โดยเฉพาะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด แต่เมื่อโลกเผชิญกับโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ความช่วยเหลือเพื่อการค้าอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ กล่าวคือ ได้เข้ามากระทบทำให้ความคืบหน้าที่พยายามทำมาย่ำแย่ลง ความเหลื่อมล้ำหยั่งรากลึกขึ้น และผลักให้คนจำนวนกว่า 150 ล้านคนตกอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรง

จากบริบทข้างต้น ในการประชุมนี้จึงเน้นย้ำบทบาทของการค้าอีกครั้ง อาทิ ต้องเปิดตลาดเพื่อให้ทุกอย่างได้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilience) ตามแนวคิดของ SDGs โดย ‘กรอบการทำงานแบบบูรณาการ’ (Enhanced Integrated Framework – EIF) หุ้นส่วนความร่วมมือจากหลายภาคส่วนซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ช่วยเหลือประเทศพัฒนาน้อยที่สุดด้วยการใช้ ‘การค้า’ เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตนั้น ก็ได้สรุปใจความสำคัญ 6 ข้อจากที่ประชุม ผ่านทางเว็บไซต์ trade4devnews.enhancedif.org ไว้ว่าดังนี้

  1. การลงทุนในห่วงโซ่อุปทานเกี่ยวกับยาและสร้างหลักประกันให้สามารถเข้าถึงวัคซีนได้เท่าเทียมกัน – ในขณะที่ทั่วโลกยังต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด การสนับสนุนการลงทุนเพื่อผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดจะสามารถช่วยได้ รวมถึงให้มีการกระตุ้นความร่วมมือทางการค้าเพื่อจัดการกับคอขวดห่วงโซ่อุปทาน การลดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องลงเพื่อให้เอื้อต่อการซื้อขายวัคซีน การหาช่องทางที่จะสามารถแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์ทางปัญญาให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (LMICs) เพื่อผลิต พร้อมเพิ่มแรงจูงให้ทำการวิจัยและพัฒนาก็สามารถช่วยได้เช่นกัน กล่าวคือเพิ่มความสามารถในการผลิตที่จะตอบสนองต่อความต้องการในโลกตอนนี้
  2. ให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเข้าถึงการเงินได้มากขึ้นโดยใช้นวัตกรรม และให้เพิ่มขีดความสามารถของประเทศเหล่านี้ – แม้ว่าเงินทุนความช่วยเหลือเพื่อการค้าสำหรับประเทศเหล่านี้จะมีเพิ่มขึ้น 13% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2549 จนถึง 13.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 แต่กลับถูกท้าทายจากโควิด-19 ทำให้เกิดช่องว่างทางการเงินที่ใช้สนับสนุนการค้า ในที่ประชุมจึงอภิปรายกันถึงการผ่อนผันหนี้ การเปลี่ยนจากปล่อยเงินกู้เป็นการลงทุน การใช้ความร่วมมือของหลาย ๆ องค์กรผ่าน Enhanced Integrated Framework (EIF) อาทิ การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อสร้างศักยภาพในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้า เป็นต้น
  3. อำนวยความสะดวกด้านการค้า ด้วยกรอบกฎระเบียบที่สนับสนุน – ความสำคัญของการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ใช้มาตรการทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี พัฒนาสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนและเอื้อต่อการค้า รวมถึงเรื่องกฎระเบียบ จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาเป็นเครือข่ายการค้าระดับโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย MSMEs (Micro SMEs)
  4. ช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย MSMEs (Micro SMEs) เปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และให้สามารถเข้าถึงโอกาสได้ด้วยช่องทางอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) – แน่นอนว่าทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี จะทำให้ผู้คนได้ผลประโยชน์จากการค้าที่ผันตัวอยู่ในช่องทางอีคอมเมิร์ซและโลกออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หากไม่ส่งเสริมข้อนี้ ก็เป็นไปได้ว่าประเทศเหล่านี้จะ ‘ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’
  5. เสริมพลังอำนาจให้ผู้หญิงมีทักษะดิจิทัล มีนโยบายที่คำถึงถึงเพศสภาพและการเงิน และการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ (โมบาย มันนี่ – mobile money) – ซึ่งหลาย ๆ ความร่วมมือก็ได้มีการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนทักษะและศักยภาพของผู้หญิงให้สามารถเข้าถึงการค้าดิจิทัลในโลกปัจจุบันได้ นอกจากนี้ นโยบายทางการค้าที่เป็นการกีดกันหรือส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้หญิงก็จำต้องถูกจัดการด้วยเช่นกัน
  6. ลงทุนสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกระตุ้นความยั่งยืน และฟื้นการท่องเที่ยว – ปัจจุบันนี้ เงินทุนความช่วยเหลือเพื่อการค้าสำหรับประเด็นนี้ มีเพียง 3% เท่านั้น จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งการลงทุน การช่วยเหลือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและให้มีเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้บรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูประเทศด้วย โดยเฉพาะบรรดารัฐที่เป็นเกาะและอยู่ห่างไกล โดยนอกจากจะพูดถึงการฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว ยังรวมถึงว่าการเปิดโอกาสทางการค้าที่จะช่วยให้มีเทคโนโลยี สินค้า และบริการที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในประเทศเหล่านี้ด้วย

ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) เป็นการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries – LDCs) ซึ่งหลายประเทศเหล่านี้เผชิญกับข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอุปทานและการค้า (supply and trade infrastructure) ที่เป็นอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับการค้าโลกได้ โดยความช่วยเหลือเพื่อการค้าที่นำโดยองค์การการค้าโลก (WTO) นั้น เป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาและผู้บริจาค (donors) ตระหนักถึงบทบาทที่ ‘การค้า’ มีต่อ ‘การพัฒนา’ โดยเฉพาะให้มีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรเพื่อนำไปจัดการกับปัญหาหรือข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการค้าในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด – เรียบเรียงคำอธิบายจาก WTO Aid-for-Trade

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.a) เพิ่มเติมความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใoประเทศพัฒนาน้อยที่สุด รวมถึงผ่านช่องทางของ ‘กรอบการทำงานแบบบูรณาการ’ (EIF) สำหรับความช่วยเหลือทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการค้าแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG5 เสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง
– (5.a) ปฏิรูปให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการบริการทางการเงิน
– (5.b) ส่งเสริมการให้อำนาจผู้หญิงใช้เทคโนโลยี ICT
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรม
– (9.3) SMEs โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนากับการเข้าถึงบริการทางการเงิน ห่วงโซ่อุปทาน/ตลาด
– (9.a) อำนวยความสะดวกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และวิชาการ ในแอฟริกา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนาให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรม
– (9.c) ให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี ICT ภายในปี 2563 (2020)
#SDG13 จัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17
– (17.5) ส่งเสริมการลงทุนสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
– (17.12) การเข้าถึงตลาดปลอดภาษีและปลอดการจำกัดปริมาณในระยะยาวสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยให้สอดคล้องกับการตัดสินใจขององค์การการค้าโลก
– (17.16) หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
https://trade4devnews.enhancedif.org/en/event-coverage/6-takeaways-wtos-aid-trade-stocktaking-least-developed-countries
https://www.wto.org/english/tratop_e/devel_e/a4t_e/gr21_e/gr21_e.htm

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น