Site icon SDG Move

วิธีการเพาะปลูกแบบไม่ไถพรวนดิน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่เก็บในดิน

งานวิจัยศึกษาพื้นที่เกษตรทั่วสหราชอาณาจักร พบว่าแนวทางการทำไร่ทำสวนแบบใหม่โดยไม่ต้องเตรียมหน้าดินด้วยการไถพรวน (no-trill farming) แต่ทำหลุมในดินเพื่อใส่เมล็ดพันธุ์แทน วิธีนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพืชได้เกือบหนึ่งในสามและยังช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินด้วย

การขุดหลุมขนาดเล็กสำหรับหยอดเมล็ดพืชใช้เครื่องเจาะแค่ตัวเดียววิ่งไปตลอดพื้นที่ไร่เพียงรอบเดียว จึงรบกวนปริมาณดินน้อยกว่าการเพาะปลูกแบบเดิมทั่วไปที่เกษตรกรต้องใช้อุปกรณ์หลายชนิด และวิธีการหลายขั้นตอนในการทั้งไถพรวน คราด หว่าน และกลบดินให้แน่น ทำให้แนวทางการปลูกแบบไม่ไถพรวนประหยัดต้นทุนด้านเครื่องจักร และยังลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซลของเครื่องยนต์อีกด้วย

การไถพรวนดินเพื่อทำการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมทำให้เกิดโพรงอากาศขนาดใหญ่ในดิน ออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากับจุลินทรีย์ในดินและเปลี่ยนคาร์บอนในดินให้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การไม่ไถพรวนดินช่วยกักเก็บคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายพืชตายแล้วไว้ในดินต่อไป

จากการศึกษาพบว่า ยิ่งไม่รบกวนดินมากเท่าไร ยิ่งเก็บคาร์บอนได้มากเท่านั้น

นักวิจัยได้เปรียบเทียบดินระหว่างที่มีการไถพรวนและไม่มีการไถพรวน พบว่า หากไม่ไถพรวนก่อนจะมีโพรงอากาศในดินขนาดเล็กกว่าและจำนวนน้อยกว่า ซึ่งหมายถึงการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยกว่า โดยช่องอากาศเหล่านี้เกิดจากไส้เดือนขุดและรากไม้ที่เจริญเติบโตในช่วงที่ไม่มีการไถดิน แม้จะมีโพรงน้อยกว่าแต่ยังคงมีรูพรุนเพียงพอให้ระบายน้ำและให้รากได้แผ่ขยายเพื่อหาน้ำในดินได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในช่วงแล้งจัดที่เกิดบ่อยขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว จุลินทรีย์ในดินในพื้นที่เพาะปลูกยังสามารถสร้างก๊าซมีเทนและก๊าสไนตรัสออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน ซึ่งก๊าซทั้งสองมีประสิทธิภาพในการดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายร้อยเท่า

การทำเกษตรแบบไม่ไถพรวนดินนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสามประเภทลดลงถึง 30% โดยลดลงมากที่สุดในพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่มีการรบกวนดินนานประมาณ 15 ปี นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหากทั่วโลกหันมาใช้เทคนิกการไม่ไถพรวน เพราะกิจกรรมภาคเกษตรทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 26% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมมนุษย์ทั้งหมด

แม้ว่าจะเทคนิกการเพาะปลูกนี้มีประโยชน์หลายประการ แต่มีเกษตรกรในสหราชอาณาจักรเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้วิธีนี้ ต่างกับในสหรัฐอเมริกาที่มีความนิยมแพร่หลาย เกษตรกรให้เหตุผลว่าอุปสรรคคือการต้องลงทุนซื้อเครื่องเจาะหลุม และความกังวลว่าจะได้ผลิตผลน้อยลงไปกว่าเดิม

ไร่และสวนที่ไม่มีการไถพรวนจะให้ผลผลิตน้อยกว่าจริงในช่วงแรก เพราะเมล็ดพันธุ์อาจงอกได้ยากในพื้นดินที่แข็งและมีออกซิเจนน้อย แต่การเคลื่อนที่ของไส้เดือนดินและรากไม้จะช่วยเปลี่ยนโครงสร้างของดินทำให้เมล็ดพันธุ์เติบโตได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ

ผู้วิจัยให้ความเห็นว่า หากต้องการให้เทคนิกการเพาะปลูกโดยไม่ต้องไถพรวนดินแพร่หลายในยุโรปมากขึ้น รัฐบาลต้องให้แรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร เพื่อให้ดินอยู่ในสภาพธรรมชาติดังเดิมและกักเก็บคาร์บอนในดินไว้ได้นานหลายศตวรรษ

เทคนิกการเพาะปลูกโดยไม่รบกวนดิน เพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 2 ยุติความหิวโหย ในประเด็น เกษตรกรรมที่ยั่งยืนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยพัฒนาคุณภาพดินได้ (2.4)
- SDG 13 ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2)

ที่มา: The Conversation

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version