Site icon SDG Move

SDG Updates | The Future is Now: Science for Achieving Sustainable Development – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา

ภายในปี 2019 นอกจากเอกสารของ Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก และคณะ “Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals” ที่นำเสนอแนวคิดวิธีการเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030 แบบที่ทำมา (BAUs) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปอย่างช้าเกินกว่าที่จะสำเร็จได้จริง ไปสู่การดำเนินการที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน (Transformative Change) ยังมีเอกสาร รายงานการพัฒนาที่ยังยืนระดับโลก ประจำปี 2019 (Global Sustainable Development Report) ภายใต้ประเด็น The Future Is Now: Science For Achieving Sustainable Development ที่นำเสนออีกแนวทางในการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ให้ได้มากขึ้น

รายงาน Global Sustainable Development Report (GSDR) 2019: The Future is Now: Science for Achieving Sustainable Development ฉบับนี้จัดทำโดย กลุ่มนักวิชาการอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยเลขาธิการสหประชาชาติ ((Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General 2019)

อ่านที่มาของแนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการทบทวน “Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals” ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง


Global Sustainable Development Report 2019: The Future is Now: Science for Achieving Sustainable Development

—— Transformation : การเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน ——

รายงานการพัฒนาที่ยังยืนระดับโลก ประจำปี 2019 (Global Sustainable Development Report) ภายใต้ประเด็น The Future Is Now: Science For Achieving Sustainable Development ซึ่งจัดพิมพ์ทุกๆ 4 ปี ในวาระการทบทวนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยฉบับในปี 2019 เป็นการทบทวนทั้ง 17 เป้าหมายในรอบแรก

เอกสารฉบับนี้เสนอว่า หากยังคงมีการดำเนินการอย่างที่เคยทำมา (Business-As-Usual: BAU) ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 แล้ว ซ้ำร้ายยังมีบางมิติที่ทิศทางการพัฒนาสวนทางกับเป้าหมายอีกด้วย

โดยสี่ประเด็นหลักที่สถานการณ์สวนทางกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ (1) ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น (2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และ (4) การเพิ่มขึ้นของปริมาณของเสีย

GSDR 2019 เสนอว่า การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน (transformation) อย่างเร่งด่วนและมีการวางแผน ในที่นี้การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานจะต้องแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญไปจากสิ่งที่เคยทำกันมา (BAU)

เอกสารฉบับนี้เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน หมายถึง การดำเนินนโยบายทั้งทางปฏิบัติและนโยบายด้านความรู้ โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมาย (Goals) และเป้าหมายย่อย (Targets) เพื่อหาวิธีลดความขัดแย้งและเสริมพลังกันระหว่างเป้าหมาย ซึ่งในรายงาน GSDR 2019 ได้มีการนำเสนอตารางแสดงระดับการปฏิสัมพันธ์ทั้งทางบวกและทางลบระหว่างเป้าหมายย่อยภายใต้ 17 เป้าหมาย ตามวิธีการศึกษาของ International Council for Science 2017 ไว้ด้วย

ตารางแสดงระดับการปฏิสัมพันธ์ทั้งทางบวกและทางลบระหว่างเป้าหมายย่อยภายใต้ 17 เป้าหมาย ตามวิธีการศึกษาของ the International Council for Science (ICSU)

จุดคานงัด และ จุดเข้ากระทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน

Leverage Point : จุดคานงัดในการแก้ปัญหา คือจุดที่ใช้แรงน้อยที่สุดแต่ได้ผลลัพธ์สูงสุด ——
Entry Point : จุดเข้ากระทำ คือจุดตั้งต้นเพื่อดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ——

จุดเข้ากระทำ (Entry Point) และจุดคานงัด (Levers) ตามข้อเสนอของ รายงาน GSDR 2019

รายงาน GSDR 2019 เสนอแนวคิดของ Entry Point และ Levers โดยใช้คำว่า ‘Entry Point’ หรือ ‘จุดเข้ากระทำ’ แทนคำว่า ‘transformation’ หรือ ‘ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลง’ เพื่อให้มองจุดเข้ากระทำเหล่านี้อย่างเป็นระบบและเห็นความเเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าหมายย่อยต่างๆ แทนที่จะเป็นเพียงเป้าหมายหรือชุดเป้าหมาย SDGs เท่านั้น

โดยมีแนวคิดเบื้องหลังมาจากสาเหตุของปัญหาความไม่ยั่งยืนในปัจจุบันที่เกิดจากกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่สร้างผลกระทบไปสู่ประเด็นหรือมิติอื่นๆ ๆ โดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม 

ดังนั้น หากต้องการแก้ปัญหาความไม่ยั่งยืน เราต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงเหล่านี้ หาจุดคานงัดที่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ที่ไม่ยั่งยืนให้เป็นสถานการณ์ที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจุดเข้ากระทำเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกับจุดคานงัดเพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs ตามบริบทของท้องถิ่น

จุดเข้ากระทำ ทั้ง 6 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 : ความเป็นอยู่ที่ดีและศักยภาพของมนุษย์ (Human Well-being and Capabilities)

เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความยากจนและสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวในหลายมิติผ่านการให้บริการและช่องทางการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ การศึกษา น้ำ สุขอนามัย พลังงาน การจัดการภัยพิบัติ เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่อยู่อาศัย และกลไกคุ้มครองทางสังคมได้ โดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางและมักทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น ผู้หญิงและเด็กหญิง ผู้พิการ คนพื้นเมือง เป็นต้น

ประเด็นที่ 2 : เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (Sustainable and Just Economies)

เกี่ยวข้องกับการวางแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับทิศทางความยั่งยืนในระยะยาวและการถอนการลงทุนจากแนวทางที่ไม่ยั่งยืน ความพยายามแยกการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและโอกาสของคนทุกกลุ่ม และลดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้ โดยกระบวนการบรรลุเป้าหมายจำเป็นจะต้องมีความแตกต่างกันให้เหมาะกับบริบทระดับรายได้ของแต่ละประเทศ

ประเด็นที่ 3 : ระบบอาหารและรูปแบบของโภชนาการ (Food Systems and Nutrition Patterns)

เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมให้มีระบบอาหารและโภชนาการที่นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีและกำจัดภาวะทุพโภชนาการ โดยต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน นโยบาย กฎกติกา บรรทัดฐาน และรสนิยมเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ นอกจากนี้ยังครอบคลุมประเด็นถึงห่วงโซ่คุณค่าที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนและการสนับสนุนการเติบโตของเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา

ประเด็นที่ 4 : การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานในขณะที่ยังเข้าถึงพลังงานได้ถ้วนหน้า (Energy Decarbonization with Universal Access)

เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานที่จ่ายได้และเชื่อถือได้อย่างทั่วถึง ผ่านการเร่งการจัดหาพลังงานสะอาดที่ต้นทุนต่ำควบคู่ไปกับการใช้พลังงานสมัยใหม่เพื่อปรุงอาหาร รวมถึงการกระจายอำนาจการผลิตพลังงานทดแทนด้วย นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติในการเปลี่ยนรูปแบบระบบพลังงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่เจ็ด และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นที่ 5 : การพัฒนาเมืองและพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท (Urban and Peri-urban Development)

เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจและทรัพยากรแก่เมืองในการดำเนินการ ออกนโยบายที่มีหลักฐานสนับสนุน มีความครอบคลุม และมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมนโยบายขจัดความยากจนที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ลงทุนในเมืองที่อยู่อาศัยได้ มีงานที่มีคุณค่าและเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็น โดยมีจัดการของเสียและมลภาวะอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่ 6 : ทรัพยากรร่วมทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก (Global Environmental Commons)

เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐาน เพื่อการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ด้วย นอกจากนี้รัฐบาลควรมีการประเมินผลกระทบภายนอกในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงบังคับใช้นโยบายและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

จุดคานงัดที่สำคัญ 4 ประการ

หกประเด็นที่กล่าวด้านบน จะต้องทำงานร่วมกับจุดคานงัดอีก 4 ประการ ประกอบด้วย

จุดคานงัดเหล่านี้มีความใกล้เคียงกับ Means of Implementation หรือ แนวทางในการบรรลุเป้าหมายที่มีการเสนอแนะไว้ในวาระการพัฒนา 2030 ประเด็นที่แตกต่างก็คือ จุดคานงัดเหล่านี้มีจุดเน้นเพื่อการอำนวยความสะดวกให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้องค์ประกอบและบทบาทของจุดคานงัดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้นๆ 

จุดคานงัดที่รายงานฉบับนี้ให้ความสำคัญคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเสนอว่าทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องทำงานร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ รัฐบาล เครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย มหาวิทยาลัย ฐานข้อมูลและห้องสมุดจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงความรู้ การเข้าถึงข้อมูลแบบแยกย่อย (disaggregate data) รวมถึงพัฒนาและคุณภาพของระบบอุดมศึกษา 

ต้องมีการยกระดับการสนับสนุนงานวิจัยที่อยู่บนฐานของภารกิจการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนทั้งงานวิจัยในสาขา Sustainability Science และในศาสตร์อื่นๆ โดย Sustainability Science เป็นสาขาที่มุ่งจัดการความท้าทายด้านความยั่งยืนโดยอาศัยการทำงานแบบข้ามศาสตร์ในระดับที่เรียกว่า ‘Transdisciplinary’ ซึ่งเน้นไปที่การผลิตความรู้ร่วมกัน (Co-Production of Knowledge) 

ประเด็นสุดท้ายด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่สำคัญ คือจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับ Science-Policy-Society Interface หรือ แพลตฟอร์มสำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ นโยบาย และสังคม เพื่อให้ภาควิชาการและภาคสังคมส่งผ่านความรู้และความคิดเห็นไปถึงภาคนโยบายได้


การทบทวนวรรณกรรมรายงาน Global Sustainable Development Report (GSDR) 2019 : The Future is Now: Science for Achieving Sustainable Development เป็นส่วนหนึ่งของ Discussion Paper "มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน: ความท้าทายและโอกาสในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย - Moving Towards Transformative Change: Challenges and Opportunities of SDG Implementation in Thailand" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move สามารถติดตาม Discussion Paper ฉบับเต็มทางศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) และ SDG Move ได้เร็วๆ นี้

Author

Exit mobile version