Extreme Poverty (คำนาม) หรือ ‘ความยากจนขั้นรุนแรง‘ ‘ความยากจนสุดขีด‘ คือ คนที่มีรายได้หรือระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อวันต่ำกว่า 60 บาทโดยประมาณ ตามคำอธิบายของธนาคารโลกที่ระบุว่า ความยากจนขั้นรุนแรงเป็นการเทียบค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่อวันที่ต่ำกว่า ‘เส้นความยากจนสากล’ (international poverty line) หรือ ระดับค่าครองชีพขั้นต่ำสุดที่มนุษย์จะดำรงชีพได้ ที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ได้กำหนดไว้ที่ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน
โดยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ ธนาคารโลก และประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยเองก็ได้ยึดเส้นความยากจนสากลที่ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลักในการทำงานขจัดความยากจนขั้นรุนแรง แม้ว่าตาม SDG เป้าหมายที่ 1 เป้าประสงค์ที่ 1.1 จะระบุไว้ที่ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลข เพราะเขียนไว้ก่อนที่จะมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดโดยธนาคารโลก
ซึ่งคำว่าความยากจนขั้นรุนแรง ได้ปรากฎอยู่ใน #SDG1 เป้าประสงค์ที่ 1.1 ที่ระบุไว้ว่า ‘ภายในปี พ.ศ. 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า $1.25* ต่อวัน’
By 2030, eradicate extreme poverty for all people everywhere, currently measured as people living on less than $1.25* a day
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก #SDG1 เป็นเรื่องการขจัดความยากจน ‘ทุกรูปแบบ’ ในทุกพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องมองความยากจนในมิติอื่นด้วย ที่นอกเหนือไปความยากจนตามรายได้หรือระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อวันตามเป้าประสงค์ที่ 1.1 นี้
SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (2560)
UN Sustainable Development Goals
unstat
SDGs NESDC (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)