สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนปรับพฤติกรรมใส่ใจสุขอนามัยกันมากขึ้นอย่างการล้างมือเพื่อป้องกันเชื้อโรค ทว่ายังคงมีประมาณ 3 พันล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถล้างมือด้วยน้ำหรือสบู่ได้ เพราะที่บ้านไม่มีบริการหรืออุปกรณ์ด้านน้ำเข้าถึง และยังคงมีประมาณ 2.2 พันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด ทั้งหมดนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า #SDG6 สำคัญมากไม่แพ้เป้าหมายอื่นในช่วงโควิด-19 และแม้ว่าโลกจะเดินหน้าให้มีน้ำ น้ำมีคุณภาพ และการเข้าถึงน้ำ แต่เรื่องน้ำมีราคาที่สามารถซื้อหาได้หรือไม่นั้นกลับมีความก้าวหน้าไม่มากนัก และยังไม่มีเครื่องมือใดที่จะใช้ประเมิน
3 พฤษภาคมที่ผ่านมา UNICEF, WHO, UN Water และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ จึงได้เผยแพร่ ‘คำแนะนำ’ ในชื่อ The Measurement and Monitoring of Water Supply, Sanitation and Hygiene (WASH) Affordability ให้ประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินความสามารถในการจ่าย-ซื้อหาเพื่อเข้าถึง (affordability to access) น้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย (Water, Sanitation, and Hygiene – WASH) ซึ่งเป็นสิ่งที่หายไปในการทำงานด้านน้ำทั้งที่เป็นคำสำคัญที่พบบ่อยใน SDGs* โดยเฉพาะว่ามีกลุ่มประชากรหรือครัวเรือนใด ซึ่งรวมถึงครอบครัวและชุมชนที่มีความเปราะบางมากที่สุด ยังประสบปัญหาหรือไม่ เพื่อนำสู่การจัดการกับกลไกที่มีอยู่และ ‘ราคา’ ของบริการด้านน้ำและสุขอนามัยให้ทุกคนเข้าถึงได้ต่อไป
อย่างไรก็ดี ตามคำแนะนำล่าสุดนี้ เรื่องของ ‘affordability to access’ ยังไม่มีคำนิยามที่เป็นสากล แต่ความสามารถในการจ่าย-ซื้อหาเพื่อเข้าถึง เกี่ยวข้องกับเรื่องรายจ่ายของครัวเรือนที่มี/ไม่มีเพียงพอที่จะเข้าถึงมาตรฐานบริการด้านน้ำขั้นต่ำสุดของประเทศ หรือความสามารถในการจ่ายบิลค่าน้ำรายเดือน หรือ ค่าบริการของน้ำเอง ไปจนถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำที่ติดตั้งในบ้านเรือน ที่จะบอกว่าคนเข้าถึงน้ำได้ตามปกติหรือไม่ หรือว่ายังคงมีประชาชนในบางประเทศที่ผู้หญิงและเด็กต้องเดินไปตักน้ำในแหล่งน้ำที่อยู่ห่างไกลจากบ้านที่ทำให้สุขภาพยิ่งเสี่ยงกับการใช้น้ำที่ปนเปื้อนหรือคุณภาพน้ำที่ไม่ดีพอ และการเดินไปตักน้ำที่อยู่ห่างไกลยังมีค่าเสียเวลาด้วย
โดยหากราคาบริการ WASH สูงเกินไปจนทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็อาจจะทำให้บางครัวเรือนเป็นหนี้จากการที่มีเงินไม่พอจ่าย หรือ ลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเพื่อเก็บไว้จ่ายค่าน้ำ หรือ ลดการบริโภคน้ำลงซึ่งก็จะต้องเผชิญกับผลเสียที่ตามมาจากการไม่มีน้ำบริโภคอุปโภค เป็นต้น
คำแนะนำเล่มนี้ยังได้มีการพูดถึงบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ อาทิ รายจ่ายสำหรับ WASH สถานะความยากจน มาตรการที่มีอยู่เดิมที่เน้นการเข้าถึง WASH ไปจนถึงแนะนำว่าการติดตามระดับประเทศและระดับโลกในภายภาคหน้าควรจะประเมินในภาพรวมว่าในครอบครัวหนึ่งประสงค์จะใช้จ่ายไปกับ ‘บริการพื้นฐาน’ ใดบ้างที่สำคัญจำเป็นเพื่อให้ได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่ครบถ้วนและเพียงพอกับรายได้ เพื่อให้มีการปรับค่าบริการน้ำที่เหมาะสมให้สอดคล้องกัน ไปจนถึงแนะนำให้พัฒนาชุดข้อมูลและวิเคราะข้อมูลด้านรายได้และรายจ่าย ฐานข้อมูลด้านภาษีและค่าใช้จ่าย WASH ในระดับประเทศและโลก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์เรื่อง affordability สำคัญโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางที่ค่าบริการด้านน้ำควรเป็นราคาที่ทุกคนสามารถซื้อหาได้ สอดคล้องกับมติ 18/1 สิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดปลอดภัยและการสุขาภิบาล (Human Rights to Safe Drinking Water and Sanitation – HRWS)
*Affordability ที่พบใน SDGs มีอาทิ (3.8) ยาและวัคซีนมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ (4.3) การศึกษามีค่าใช้จ่ายที่จ่ายได้ (7.1) พลังงานสมัยใหม่ที่สามารถซื้อหาได้ (9.c) อินเตอร์เน็ตมีราคาที่จ่ายได้ (11.1) ที่อยู่อาศัยและบริการขั้นพื้นฐานในราคาที่สามารถจ่ายได้
เข้าถึงเล่มฉบับเต็ม: The Measurement and Monitoring of Water Supply, Sanitation and Hygiene (WASH) Affordability
เข้าถึงฉบับ Summary Report: The Measurement and Monitoring of Water Supply, Sanitation and Hygiene (WASH) Affordability (Summary Report)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6
– (6.1) ให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (6.2) ให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ใต้สถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
https://www.who.int/news/item/03-05-2021-affordability-of-wash-must-be-defined-and-tracked-if-2030-global-goals-are-to-be-met-new-report