โลกกำลังสูญเสียศักยภาพของมนุษย์ไปมากเท่าไร? นับแต่ปี 2558 เป็นต้นมาที่มี SDGs เด็กอายุ 10 ปีจำนวนมากกว่า 393 ล้านคนในโลกยังคง ‘อ่านหนังสือไม่ออก’ – และทักษะที่หายไปของช่วงวัยสำคัญของการเรียนรู้นี้ ย่อมกระทบกับอนาคตและโอกาสอื่น ๆ ในชีวิตเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น รวมถึงกระทบกับประเทศนั้น ๆ ด้วย
องค์กรระดับโลก 3 องค์กรอย่าง Global Partnership for Education (GPE) ที่สนับสนุนการศึกษาในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ร่วมกับ Save the Children ที่ทำงานด้านสิทธิเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กที่เปราะบาง และ ONE Campaign ที่เน้นขจัดความยากจนขั้นรุนแรงให้หมดไป ได้สร้างเครื่องมือด้านการศึกษาชิ้นแรก ในชื่อ ‘Lost Potential Tracker’ เพื่อนำมาช่วยให้ผู้นำประเทศ ผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไป สามารถติดตามเรื่องราววิกฤตด้านการศึกษาในเด็ก ตัวเลขของเด็กและ ‘ศักยภาพที่กำลังสูญเสียไป’ ได้อย่างเรียลไทม์ โดยเครื่องมือนี้ใช้ข้อมูลการคำนวณจากธนาคารโลกและองค์การยูเนสโกที่มีข้อมูลด้านความยากจนด้านการเรียนรู้ (learning poverty) ร่วมกับข้อมูลประชากรเด็กอายุ 10 ขวบที่ UN มี
แล้วทำไมอายุ 10 ปีถึงเป็นช่วงวัยที่สำคัญ? เพราะอายุ 10 ปีเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเรียนรู้ที่เด็กจะสามารถเรียนรู้การอ่าน และอ่านเพื่อเรียนรู้สิ่งอื่นต่อไป จากเรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นได้ ซึ่งผลการศึกษาจากเครื่องมือติดตามนี้ ชี้ประเด็นโดยคร่าวที่น่าสนใจไว้ดังนี้
- ในทุกเดือน – เด็กกว่า 6 ล้านคนที่ย่างเข้า 10 ปีซึ่งเทียบเท่ากับประชากรในเมืองโจฮันเนสเบิร์กในประเทศแอฟริกาใต้ ไม่มีทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่ควรจะมีในช่วงอายุนี้เลย
- ในทุกสัปดาห์ – เด็กมากกว่า 1.3 ล้านคนซึ่งเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเด็กที่เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาในแคนาดา ได้รับผลกระทบ
- ในทุกวัน – เด็กมากกว่า 193,000 คนซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนที่นั่งเกือบเต็มสองรอบในสนามฟุตบอล Camp Nou Stadium ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้รับผลกระทบ
- ในทุกชั่วโมง – เด็ก 8,050 คนซึ่งเทียบเท่าจำนวนที่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนประถมของสหราชอาณาจักร ได้รับผลกระทบ
- 90% ของเด็กอายุ 10 ปีในประเทศรายได้น้อยประสบปัญหานี้ตั้งแต่ยังไม่มีโควิด-19 และเมื่อมีโควิด-19 แล้ว สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลง ที่เด็กกว่า 1.6 พันล้านคนได้รับผลกระทบ และ 1 ใน 3 ของเด็กทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกลได้ ทำให้ความคืบหน้าหยุดชะงัก
- นอกจากนั้น เด็กผู้หญิงยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะขาดทักษะการอ่านออกด้วย โดยมีถึง 20 ล้านคนที่ไม่ได้กลับเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนเลย ตามข้อมูลของ April 2020 Malala Fund report
- ยังคงมีเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนในโรงเรียนได้กว่า 260 ล้านคน ยิ่งส่งผลต่อทักษะการอ่านออกเขียนได้ รวมถึงว่าแม้แต่เด็กที่เรียนในโรงเรียน หากไม่มีการสอนที่มีคุณภาพ หรือการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับอายุ จะกระทบกับทักษะการอ่านออกเขียนได้ด้วย
อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการจัดการกับวิกฤติดังกล่าว คือการมี ‘งบประมาณ’ ด้านการศึกษาที่เพียงพอในประเทศรายได้ต่ำ และจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการสร้างระบบการศึกษาและครูที่มีคุณภาพ การศึกษาที่เป็นไปตามความต้องการของเด็กแต่ละคน และสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน ทว่าในช่วงของโควิด-19 กลับพบว่างบประมาณด้านการศึกษาในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางลดน้อยลง ทั้งที่ตามการศึกษานี้ชี้ว่าผลจากการตั้งเงินทุนหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการศึกษาในประเทศเหล่านี้ จะช่วยประกันอนาคตและปากท้องของเด็กไว้ได้ รวมถึงช่วยไม่ให้เด็กหญิงเข้าสู่การแต่งงานก่อนวัยอันควรด้วย
โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะมีเด็ก 70 ล้านคนซึ่งเทียบเท่าประเทศเซเนกัลและเคนยา ได้รับผลกระทบเพราะการขาดทักษะนี้ องค์กรทั้งสามมองว่าหากไม่เร่งขับเคลื่อนการศึกษาสำหรับทุกคน นอกจาก #SDG4 จะไม่คืบหน้าแล้ว โลกจะสูญเสียแพทย์ ครู และผู้นำในรุ่นต่อไปด้วย และ ‘หากไม่ให้ความสำคัญทางการเมืองหรือมีเงินสนับสนุนในตอนนี้ อนาคตของเด็กร่วมล้านคนจะถูกทำลาย’ (Alice Albright, CEO ของ Global Partnership for Education)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษา
– (4.1) เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียมกัน
– (4.6) เยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ในสัดส่วนสูงสามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ภายในปี 2573
– (4.c) เพิ่มจำนวนครูที่มีคุณภาพ
#SDG5
– (5.3) ขจัดแนวปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การแต่งงานในเด็กก่อนวันอันควร