Site icon SDG Move

SDG Vocab | 02 – Social Protection – การคุ้มครองทางสังคม

Social Protection (คำนาม) หรือ ‘การคุ้มครองทางสังคม‘ คือ มาตรการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน หรือหลักประกันที่ทุกคนพึงมี เพื่อลดความยากจน เสริมความมั่นคงทางรายได้ ป้องกันไม่ให้กลายเป็นคนยากจนเมื่อเจอสถานการณ์เปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีตัวอย่าง เช่น ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพ ระบบบำนาญ เงินสงเคราะห์บุตร เงินสวัสดิการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น คนยากจน และผู้พิการ เงินสงเคราะห์บุตร และระบบการประกันว่างงาน เป็นต้น

คณะกรรมการการบริหารขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Chief Executives Board) ได้กำหนดแนวคิดการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐาน (Social Protection Floor: SPF) ซึ่งเป็นสิทธิเบื้องต้นที่ประชาชนในประเทศหนึ่งพึงมี เป็นการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ โดยให้หลักประกันแก่ประชาชนดังนี้

  1. ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐานโดยถ้วนหน้า
  2. เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการโภชนาการ การศึกษา และการดูแลได้ด้วยการที่ผู้ปกครองได้รับสิ่งที่มิใช่ตัวเงินหรือเงินช่วยเหลือซึ่งไม่ควรต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ประเทศกำหนด
  3. ทุกคนที่อยู่ในวัยทำงานแต่ไม่สามารถหาเงินเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างเพียงพอ ควรมีความมั่นคงทางรายได้ขั้นต่ำจากการได้รับเงินช่วยเหลือ ได้รับสิ่งที่มิใช่ตัวเงินหรือมีระบบการประกันการว่างงาน
  4. คนชราและคนพิการมีความมั่นคงทางรายได้โดยการได้รับเงินช่วยเหลือหรือสิ่งที่มิใช่ตัวเงินสำหรับคนชราและคนพิการ

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank: ADB) ได้จัดทำดัชนี Social Protection Index (SPI) ของประเทศในเอเชีย เมื่อปี 2559 พบว่า ในภาพรวมระดับการคุ้มครองทางสังคมของไทยอยู่ที่ 2.9 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (3.1) อยู่เล็กน้อย โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มี SPI สูงสุดคือญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 11.7 และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มี SPI สูงสุดคือ สิงคโปร์ อยู่ที่ระดับ 6.3

การคุ้มครองทางสังคม มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชากรกลุ่มที่ด้อยโอกาสและยากจน ประเทศไทยประสบความสำเร็จกับมาตรการคุ้มครองทางสังคมด้วยการให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ยังมีความคุ้มครองทางสังคมอื่นๆ ที่ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น เงินสงเคราะห์บุตรสำหรับแรงงานนอกระบบ เป็นต้น

ซึ่งคำว่า ‘การคุ้มครองทางสังคม’ ได้ปรากฏอยู่ใน #SDG1 เป้าประสงค์ที่ 1.3 ที่ระบุไว้ว่า ดําเนินการให้เป็นผลตามระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี พ.ศ. 2573

Implement nationally appropriate social protection systems and measures for all, including floors, and by 2030 achieve substantial coverage of the poor and the vulnerable


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (2560)
UN Sustainable Development Goals
รายงานดัชนี Social Protection Index (SPI) ของประเทศในเอเชีย ปี 2559 โดย ธนาคารพัฒนาเอเชีย

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version